ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บอร์ด สปส.เผยยอดจ่าย 'สิทธิประโยชน์' ผู้ประกันตนมาตรา 39 ปีเดียวขาดทุน 2,000 ล้านบาท เล็งปรับอัตราเงินสมทบใหม่ให้สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพ พร้อมกำหนดเพดานขั้นต่ำ 'เงินบำนาญชราภาพ' สมาชิกมาตรา 33

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานเปิดงาน "ประกันสุขกับประกันสังคม" ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า ขณะนี้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมในมาตรา 40 แล้วทั้งสิ้น 1,247,848 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็นการจ่ายเงินสมทบแบบทางเลือกที่ 1 รัฐบาลจ่าย 70 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 30 บาท จำนวน 6,911 คน และทางเลือกที่ 2 รัฐบาลจ่าย 50 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท จำนวน 1,240,937 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกันตนที่มีอาชีพรับจ้างหรือรับงานไปทำที่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือ เกษตรกรรม ค้าขายหาบเร่แผงลอย และอาชีพอิสระอื่นๆ          

"ขณะนี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง สปส.และธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเพิ่มช่องชำระเงินสมทบโดยการหักเงินผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งผู้ประกันตนที่สนใจสามารถนำสำเนายินยอมการหักเงินผ่านบัญชีธนาคารในสาขาที่เปิดบัญชีไว้ พร้อมสำเนาบัญชีธนาคารไปยื่นที่ สปส.ทั่วประเทศ มีค่าทำเนียม 5 บาทต่อ 1 รายการ" นายเผดิมชัยกล่าว 

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยถึงผลการประชุมบอร์ด สปส.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับเพดานขั้นต่ำในการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่มีรายได้ต่ำสุดไม่เกินเดือนละ 1,650 บาท ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 83 บาท จำนวนกว่า 100,000 คน ส่งผลให้เงินสะสมของผู้ประกันตนมีน้อย บอร์ด สปส.เห็นว่าหากไม่มีการปรับเพดานขั้นต่ำเพิ่ม จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพน้อยเกินไป ซึ่งจะเริ่มรับเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 เบื้องต้นเห็นว่า เพดานขั้นต่ำควรกำหนดให้สูงกว่าอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐบาลจ่ายให้เดือนละ 600 บาท จึงมอบให้ สปส.ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปส.ยังได้รายงานการใช้จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ในทุกกรณีของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 432 บาท ปัจจุบันผู้ประกันตนกลุ่มนี้มีอยู่กว่า 1,000,000 คน แต่ในรอบปีที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมได้ใช้จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทุกกรณีสูงกว่าเงินสมทบที่เก็บได้ถึง 2,000 ล้านบาท เท่ากับประสบภาวะขาดทุน จึงให้ สปส.ศึกษาการกำหนดสิทธิประโยชน์และอัตราเงินสมทบให้สอดคล้องกับผู้ประกันตน มาตรา 39 แต่ละกลุ่ม เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสิทธิประโยชน์เป็นไปอย่างสมดุล แต่ไม่สนับสนุนการใช้วิธีเก็บเงินสมทบสูงกว่าเดือนละ 432 บาท เพราะผู้ประกันตนกลุ่มนี้มีหลากหลายกลุ่มและรายได้สูงต่ำต่างกัน

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555