ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข้าราชการเฮ! 1 มกราคม 2556 กรมบัญชีกลางให้เบิก'ยากลูโคซามีน'รักษาอาการข้อเสื่อม ปธ.'สพศท.'เบรกฟ้องศาลปกครอง แต่ไม่เห็นด้วยหากให้ อภ.เป็นตัวกลางซื้อขายยา หวั่นได้ของด้อยประสิทธิภาพ

กรณีคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ มีมติที่จะส่งหนังสือแจ้งกรมบัญชีกลางให้ถอนประกาศ 3 ฉบับ ที่มีแนวโน้มว่าเข้าข่ายลิดรอนสิทธิของผู้ป่วยในกลุ่มสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และมีข้อเสนอแนะให้ควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสมแทน อาทิ ให้ใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟต (ยารักษาอาการข้อเสื่อม) ได้ตามข้อบ่งชี้และมาตรฐานทางการแพทย์ โดยกำหนดราคากลางยา และมีแผนให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายยาราคาแพงบางรายการ เริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 นั้น

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลางไม่เข้าใจจึงมีความพยายามออกประกาศ 3 ฉบับ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ล่าสุด ตัวแทนข้าราชการได้เข้า หารือกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่ง นพ.ประดิษฐแจ้งว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าใจและให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมที่สุด เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องศาลปกครองตามที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้

"สิ่งที่กังวลคือ กรณีเห็นชอบให้ควบคุมราคายา โดยใช้กลไกราคากลางทำกระบวนการซื้อยาให้ถูกลง โดยให้ อภ. เป็นตัวกลางในการจัดซื้อยา ซึ่งอาจมีการปรับกฎระเบียบโดยให้เบิกจ่ายคืนเป็นยาแทนการเบิกเป็นเงินจากกรมบัญชีกลาง หรือให้ซื้อยาผ่าน อภ.นั้น เห็นด้วยเพียงกรณีจัดกลไกราคากลาง แต่ไม่เห็นด้วยหากจะให้ อภ.เป็นตัวกลางในการจัดซื้อยา เพราะมีตัวอย่างจากเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเกลือ อภ.ได้ส่งน้ำเกลือให้โรงพยาบาลต่างๆ แต่ปรากฏว่าที่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ พบน้ำเกลือมีเชื้อรา มีสิ่งสกปรกเจือปนจนต้องส่งคืน ตรงนี้สอบถาม อภ.ก็นิ่งเฉย และเปลี่ยนน้ำเกลือใหม่ให้ รพ.นครพิงค์ แห่งเดียว ทั้งๆ ที่ตามระบบควรเรียกเก็บทั้งล็อตหรือไม่ จึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย" พญ.ประชุมพรกล่าว

ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับมติดังกล่าว การที่รัฐมนตรี สธ.สั่งข้ามกระทรวงให้กรมบัญชีกลางถอยต่อแรงกดดัน เท่ากับยอมให้ประเทศต้องสูญเสียเงินงบประมาณปีละกว่า 700 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เพิ่งประกาศนโยบายจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพของสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าผู้ป่วย 30 บาทรักษาทุกโรค หลายเท่าตัว

"อยากถามรัฐมนตรี สธ.ที่เป็นหมอเอาข้อมูลวิชาการจากไหนมาใช้ตัดสินใจ เป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำและปฏิรูประบบประกันสุขภาพ 3 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเพียงราคาคุยให้ดูดีเท่านั้น" น.ส.บุญยืนกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555