ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บอร์ดน้ำเมาเดินหน้าปัดฝุ่นร่างกฎหมายติดภาพและคำเตือนโทษน้ำเมาอีกครั้ง มั่นใจ ประกาศใช้กุมภาพันธ์ 56 หลังถูกกลุ่มทุนต้าน ส่งผลชะลอไปกว่า 3 ปี เผยพร้อมปรับเปลี่ยนเนื้อหา ลดข้อโต้แย้งทางเทคนิค มั่นใจกระตุ้นคนไทยดื่มเหล้า เบียร์ลดลงได้จริง ด้านดิอาจิโอฯ ตีรวนแก้กฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคหาช่องทางดื่ม ส่วนไทยเบฟ เตรียมปรับกลยุทธ์ตลาดให้เข้ากับกฎหมายด้วย

การเสนอร่าง ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบตั้งแต่ปี 2552 เพื่อใช้เป็นกฎหมายในการควบคุมผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย แต่ร่างประกาศฯดังกล่าวกลับไม่ถูกนำมาพิจารณา และกลายเป็นวาระค้าง ถูกเลื่อนพิจารณาต่อเนื่องหลายครั้งจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีเสียงทั้งคัดค้านจากผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ขณะเดียวกันก็มีเสียงสนับสนุนจากองค์กรอิสระเช่นกัน

ล่าสุดน.พ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า คณะกรรมการ มีแผนจะผลักดันร่าง ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ... ต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาและประกาศใช้ให้ทันในเดือนธันวาคม 2555 นี้ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญและมีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง

แต่ตัวร่างประกาศเกี่ยวกับโลโกและคำเตือนบนฉลาก เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจำเป็นต้องมีการพิจารณา และลงความเห็นจากหลายฝ่าย จึงไม่สามารถผลักดันให้เข้าวาระการประชุมได้ทันต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจแอลกอฮอล์ แต่คณะกรรมการ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีแผนผลักดันให้มีการพิจารณาอีกระลอกในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้มีการบังคับใช้ทันที

"เดิมคณะกรรมการ มีแผนจะนำเสนอร่าง ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ... ในวันที่ 3 ธันวาคม และ 6 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีการประชุมอนุกรรมการและคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำเสนอไปร่างประกาศเพิ่มเติม ได้แก่ ร่างประกาศ ว่าด้วยการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะเพื่อการ จราจรทางบก ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ได้แก่ ถนนสาธารณะ ไหล่ทาง ทางเท้า ,ว่าด้วยมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา 500 เมตร

การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะของทางราชการ และหน่วยงานของรัฐ 4 และการกำหนดให้มีใบอนุญาตก่อนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ไปยังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แห่งชาติให้มีการพิจารณาเห็นชอบ โดยเป็นร่างประกาศต่อเนื่องจาก 3 ฉบับ ที่ถูกประกาศเพิ่มเติมไปก่อนหน้านี้ เพื่อครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ผู้บริโภคตื่นตัวและลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลง แต่ยังมีเนื้อหาบางส่วนของร่างประกาศฯ บางส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จึงต้องชะลอออกไป"

โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฯ ได้แก่ การติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ต้องแสดงข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 6 แบบ ประกอบไปด้วย 1. ดื่มสุรา ทำให้เป็นโรคตับแข็ง 2. ดื่มสุราแล้วขับขี่ ทำให้พิการและตายได้ 3. ดื่มสุรา ทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้ 4. ดื่มสุรา ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5. ดื่มสุรา ทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกและครอบครัว 6. ดื่มสุรา เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน

ด้านนายธนากร คุปตจิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสุราต่างประเทศ ตระกูล "จอห์นนี่ วอล์กเกอร์" กล่าวว่า ในการแก้กฎหมาย ในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละครั้งนั้น เป็นเหมือนกับการเปิดโอกาสใหม่ให้กับผู้บริโภคในการหาช่องทางการดื่ม การขายเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นการนำมาใช้จริง นอกจากนี้การมุ่งให้ความรู้ และการรณรงค์แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาได้มากกว่าการใช้สัญลักษณ์อื่นๆมานำเสนอ

ขณะเดียวกันมาตรการที่ออกมาในแต่ละมาตรการนั้น ทั้งประกาศ , พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประกาศสำนักนายกฯที่ออกเพิ่มเติม 3 ฉบับนั้น ยังมีความคลุมเครือ มีการตีความหมายที่ไม่ชัดเจน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อ 3 กลุ่มหลัก คือ ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยที่ผ่านมา ทางบริษัทพยายามที่จะชี้แจงปัญหาและแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ไขแก่ภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการพิจารณาแต่อย่างใด

โดยในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมืองไทยปัจจุบัน ปัญหาหลักที่พบมี 2 เรื่องด้วยกันคือ 1. เรื่องของภาษีสุรา และ2. เรื่องของกฎระเบียบการควบคุมสุรา ซึ่งประกาศเพิ่มเติมที่ออกมาภายหลัง อีกทั้งกฎหมายจัดเก็บภาษีสุรา และข้อบังคับเกี่ยวกับโฆษณามองว่าส่งผลกระทบทั้งกลุ่มเหล้าที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากยังมีการตีความออกมาไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ในประเทศไทยปี 2555 ยอดจำหน่ายสุรากลั่นในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 583.56 ล้านลิตร มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% ในขณะที่กลุ่มสุรากลั่นนำเข้ามียอดจำหน่าย 28.5 ล้านลิตร โดยแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุดเป็นของสุรากลุ่มในประเทศ ที่ปีนี้มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจในการดื่มสุรากลั่นในประเทศมากขึ้น จากการที่สุรากลั่นนำเข้ามีราคาสูง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่งผลให้สุรากลั่นในประเทศมีสัดส่วนมากถึง 95.34% ในขณะที่สุรานำเข้ามีเพียง 4.66% ของมูลค่าตลาดรวมสุรากลั่นในประเทศไทยทั้งหมด

นายวรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สายธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เบียร์ช้าง , แสงโสม , แม่โขง ฯลฯ กล่าวว่า สำหรับกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ทางบริษัทก็พร้อมที่จะสนองนโยบายภาครัฐโดยการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งการออกมาเปลี่ยนแปลงตัวกฎหมายในการควบคุมแต่ละครั้ง ยอมรับว่ามีผลต่อรูปแบบการทำตลาดของบริษัทพอสมควร เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนแผนการตลาดออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด

จากตัวเลขรายการจัดเก็บภาษีสุราผสมปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 2549 ที่มีรายได้จากการจัดเก็บอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท โดยจากสถิติของกรมสรรพสามิตพบว่าตลอด 4 ปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2555 กว่า 98% ของส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยเป็นสุราในประเทศ เช่น เบียร์ เหล้าขาว และ เหล้าสีของไทยมาโดยตลอด ในส่วนของเครื่องดื่มนำเข้า มีสัดส่วนอยู่ที่ 1.4-1.5% ในขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า มีเพียง 44 ล้านลิตร

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555