ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม, กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอชไอวีและเอดส์ การสาธารณสุขและการเข้าถึงการรักษา 15 องค์กร ชุมนุมที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านทาง นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สธ. เรียกร้องให้รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาที่จะระบุในกรอบเจรจาฯอย่างวชัดเจนว่า เอฟทีเอ ไทย-อียู ต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพและการกำหนดนโยบายสาธารณะ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา(ร่าง)กรอบเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) แต่จนถึงขณะนี้ (ร่าง)กรอบดังกล่าว ยังไม่เคยเปิดเผยและยังไม่เคยถูกนำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่า จะสามารถป้องกันข้อห่วงกังวลต่างๆเหล่านี้ได้หรือไม่

“พวกเรา มีความกังวลอย่างยิ่งหากรัฐบาลไทยจะเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ที่มีเนื้อหาที่เอาเปรียบและมีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสากลว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส   จะมีผลกระทบทางลบต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะสกัดขัดขวางนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่จะควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค

“ประชาชนคนไทยจะต้องเผชิญกับหายนะด้านสาธารณสุขอย่างใหญ่หลวง และไม่มีความคุ้มค่าเลยถ้ารัฐบาลจะเอาเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขไปแลกกับผลประโยชน์ที่อาจจะได้จากการลดกำแพงภาษีสำหรับสินค้าบางรายการ ซึ่งมีกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว แต่กลับผลักภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับทั้งประเทศต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท จากข้อเรียกร้องที่เป็นทริปส์พลัสเพียงแค่ 2 ข้อ คือ การขยายอายุสิทธิบัตรออกไป 5 ปีและการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา (Data Exclusivity) 5 ปีซึ่งนี่เป็นตัวเลขจากงานวิจัยของรัฐทั้งสิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรงและทั้ง 4 งานวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะตรงกันว่า ประเทศไทยไม่สมควรยอมรับทริปส์พลัส มีแต่บรรษัทยาข้ามชาติที่จะได้ประโยชน์เท่านั้น”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลใจกับข้อมูลที่กรมเจรจาฯจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันพรุ่งนี้ เพราะที่ผ่านมา กรมเจรจาฯพยายามบิดเบือนข้อมูลผลกระทบด้านสาธารณสุขและสังคมอย่างมาก ล่าสุดยังมีความพยายามปั้นตัวเลขว่า หากไม่เจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปไทยจะเสียหายจากสิทธิจีเอสพีที่ถูกตัดมากกว่า 80,000 ล้านบาท โดยนำอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ไปปั้นตัวเลขความเสียหายให้สูงขึ้นจากงานศึกษาของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะบุว่า 2,562 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ตัวเลขเกินกว่าความเสียหายด้านสุขภาพ

“ดังนั้น ต้องระบุในกรอบเจรจาอย่างชัดเจนว่า ไม่รับทริปส์พลัส และใส่หลักการไปว่า การเจรจาความตกลงนี้จะต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องไม่กระทบกับการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข สังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค”

เนื้อความในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ภาคประชาสังคมฯดังกล่าว มีข้อเสนอดังนี้

1.  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์) รักษาคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ย.55 ว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปอย่างชัดเจนถึงการป้องกันผลกระทบจากการเจรจาเอฟทีเอต่อระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี

2.  ให้กำหนดไว้ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปอย่างชัดเจนว่า ไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์พลัส  ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยผลการเจรจาใดๆที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่ไทยปฏิบัติอยู่ถือเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ และควรระบุหลักการสำคัญลงไปในกรอบเจรจาว่า การเจรจาความตกลงนี้จะต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องไม่กระทบกับการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข สังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค

3.  เนื่องด้วยความตกลงทางการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้านสังคม และกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง จึงขอให้รัฐบาลดำเนินตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และขอให้การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นรอผลจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 เพื่อประกอบการตัดสินใจ” 

เครือข่ายและองค์กรที่ร่วมยื่นจดหมายถึงนายกฯครั้งนี้ ประกอบไปด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, มูลนิธิชีวิตไท และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั่วประเทศจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เพราะสหภาพยุโรปมีท่าทีชัดเจนที่ต้องการลดภาษีแอลกอฮอล์มากถึง 90% และต้องการให้ผ่อนคลายกฎและนโยบายต่างๆในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั่วประเทศจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เพราะสหภาพยุโรปมีท่าทีชัดเจนที่ต้องการลดภาษีแอลกอฮอล์มากถึง 90% และต้องการให้ผ่อนคลายกฎและนโยบายต่างๆในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่