ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เฝ้าระวัง "ไข้หวัดใหญ่สหรัฐ" ส่อเค้ากลายพันธุ์ A(H3N2)V เร่งปรับ "วัคซีน" ตัวใหม่รับมือ องค์การเภสัชฯ แจงมียาต้านไวรัส "โอเซลทามิเวียร์" เพียงพอ เผยกลุ่มเสี่ยงแห่ฉีดวัคซีนป้องกัน

ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐขณะนี้ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายคนวิตกกังวล แต่เนื่องจากอากาศในอเมริกาหนาวมาก และชื้น ทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงคนไทยไม่ต้องวิตกเกินเหตุ แต่ควรตระหนัก และประเทศไทยในอดีตไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวนี้มีการระบาดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ

เชื้อไวรัสที่ระบาดในอเมริกาตอนนี้ เป็นชนิด A(H3N2) ยังไม่พบการกลายพันธุ์ แต่การกลายพันธุ์ในอเมริกาพบมาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เป็น A(H3N2) มีตัว V ห้อยท้าย ซึ่งกำลังติดตามว่า โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในอเมริกาขณะนี้ เกิดจากไวรัสตัวที่กลายพันธุ์หรือไม่ จึงต้องเฝ้าระวัง

ปกติไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 ชนิด (type) คือ A, B, C แต่ที่พบบ่อยคือ A และ B ปัจจุบันใน 1 เข็มของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะป้องกันเฉพาะไวรัสชนิดที่พบบ่อย 3 ตัว  ได้แก่ ไวรัสชนิด A 2 ตัว คือ A(H1N1) กับ  A(H3N2) และไวรัสชนิด (type) B  ซึ่งในอดีตไม่มีการแบ่งสายพันธุ์ แต่ตอนนี้เริ่มพบไวรัสชนิด B มีการแพร่ระบาดมากขึ้น และมีการแบ่งสายพันธุ์ย่อย (subtype) ในอนาคตต้องเพิ่มตัวที่ 4 เข้าไปในวัคซีน เพื่อป้องกันด้วย

สำหรับกรณีที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วยังเป็นไข้หวัดอยู่ มีสาเหตุมาจากหลายกรณี 1.วัคซีนที่ฉีดเข้าไปกับไวรัสที่ระบาดเป็นคนละสายพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าว่า วัคซีนชนิดนี้จะระบาดในคราวต่อไป 2.ร่างกายของแต่ละคน แตกต่างกัน เช่น บางคนมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี มีโรคประจำตัว ทำให้ติดโรคได้ง่าย 3.ภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่ฉีดเข้าไปไม่ได้ คุ้มกันได้ 100% ข้อบกพร่องต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นหวัดอยู่ แต่พบว่า 60% ฉีดวัคซีนแล้วได้ผลดี

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในสหรัฐอเมริกาในหลาย ๆ รัฐยังไม่ได้แพร่ระบาดร้ายแรง และอยู่ในระหว่างการควบคุมและป้องกันของทางการ อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชฯก็มียาต้านไวรัส "โอเซลทามิเวียร์" ไว้สำรองในจำนวนที่มากพอ ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก

ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดไข้หวัดใหญ่ระบาดในสหรัฐ ขณะนี้มีผู้สนใจฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลมากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลในเรื่องของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐ อีกส่วนหนึ่งก็คือความใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จะเห็นจากแนวโน้มความต้องการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นทุกปี บวกกับนโยบายของภาครัฐที่มีการรณรงค์ฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนฟรีให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยง ทำให้การตื่นตัวตรงนี้สูงขึ้น

ผู้ที่เข้ามาฉีดวัคซีน มีทั้งกลุ่มนักธุรกิจ ผู้บริหารคนไทยและต่างชาติที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ อาทิ เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ, แม่ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคปอด, ผู้ป่วย โรคเรื้อรัง, บุคลากรทางการแพทย์ และ ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน รายใหญ่ให้ข้อมูล "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงนี้มียอดการสั่งซื้อวัคซีนเพื่อสำหรับใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดการสั่งซื้อของโรงพยาบาลเอกชนมีมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากเกรงว่าหากมีการระบาดอาจไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ทัน

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น สธ.ได้สำรองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ย่อยเดียวกับสหรัฐอเมริกาไว้แล้ว 1 แสนโดส รวมถึงมียาโอเซลทามิเวียร์ ที่จะใช้ในการรักษาประมาณ 4 แสนเม็ด และที่ผ่านมาได้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยงแล้ว 3 ล้านโดส โดยวัคซีน 1 เข็มป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ คือ บี, H3N2 และ H1N1

เช่นเดียวกับนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการเตรียมความพร้อมของไทยมี 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เฝ้าระวังผ่านเครือข่ายนานาชาติที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน 2.ผ่านเครือข่ายศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาหรือซีดีซีที่ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์ร่วมกัน และ 3.ด่านควบคุมโรค มีการติดตามอาการจากภายนอกเป็นหลัก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจจับความร้อน เนื่องจากบางครั้งผู้ที่ติดเชื้ออยู่ในระยะฟักตัว ยังไม่แสดงอาการ

"การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องแห่ไปฉีดวัคซีนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนที่มีราคาแพงเป็นการสิ้นเปลือง ทางที่ดีควรป้องกันตนเองด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ไปในที่แออัดและสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย เป็นต้น" นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 ม.ค. 2556