ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวถึงปัญหาการใช้บริการฉุกเฉิน 3 กองทุนว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงพบว่ายังมีปัญหาหลายอย่างคือ1. ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ถ้าเข้ารักษาฉุกเฉินที่ รพ.เอกชน เมื่อพ้นวิกฤติจะส่งมารักษาต่อที่ รพ.รัฐบาลลำบากมากเพราะหาเตียงยาก โดยเฉพาะไอซียู อาจต้องอยู่ รพ.เอกชนต่อ ก็จ่ายค่ารักษาไม่ไหวเนื่องจากสิทธิข้าราชการจำกัดการเบิก 2. ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองถ้าเข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชนต้องผ่าตัดใหญ่อาจต้องให้ญาติรับรองค่าใช้จ่ายส่วนเกินก่อน และไม่มีที่รับส่งต่อโดยเฉพาะบัตรทองต่างจังหวัดมาป่วยในกรุงเทพฯ 3. ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมมีปัญหาเช่นเดียวกับข้าราชการแต่ดีกว่าในแง่การส่งต่อ รพ.ต้นสังกัดง่ายกว่า

พญ.ประชุมพร กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาการจ่ายเงินโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง หรือเคลียริ่งเฮาส์ ปีงบประมาณ 2555 ในช่วง 6 เดือนแรกจ่ายไม่มีปัญหา แต่ปีงบประมาณ 2556 ยังไม่จ่ายเลย นอกจากนี้คนไข้ไม่ฉุกเฉินแต่คิดว่าตัวเองฉุกเฉิน เช่น เป็นลม เวียนหัว ขอใช้บริการฉุกเฉินแล้วเบิกแบบฉุกเฉินไม่ได้ ในส่วนราชการเอาไปเบิกกับกรมบัญชีกลางก็ไม่ให้เบิกให้ไปเบิกแบบฉุกเฉินกับ สปสช. ซึ่งก็ไม่ให้เบิกอยู่แล้ว

"มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาคือ เอาเคลียริ่งเฮาส์ออกจาก สปสช. โดย สปสช.ควรรับผิดชอบเฉพาะเอกสารการเบิกแล้วส่งเบิกตามต้นสังกัดของคนไข้ ไม่ต้องสำรองจ่ายแทน เพราะความเป็นจริงกองทุนประกันสังคมกับกรมบัญชีกลางไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้กับ สปสช. ได้อยู่แล้วเพราะ พ.ร.บ.ของ 2 กองทุนไม่เปิดให้จ่ายได้ นอกจากนี้ สปสช. ควรเพิ่มค่าใช้จ่ายให้พอคนไข้จึงไม่ถูกปฏิเสธ เช่น ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของโรค หรืออาร์ดับบลิวควรอยู่ที่ 12,000-15,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ 10,500 บาท ในปัจจุบัน" พญ.ประชุมพร กล่าว

ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธานมีข้อสรุปว่า ในแง่ปฏิบัติผู้ให้บริการยังไม่เข้าใจคำว่าฉุกเฉินว่ามีขอบเขตอย่างไร หลายครั้งประชาชนไปรับบริการถูกปฏิเสธว่าไม่ฉุกเฉินทำให้เกิดความสับสน จึงมอบให้ สปสช. ไปจัดทำคู่มือให้ชัดเจนโดยต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ก่อน เม.ย. นี้ ส่วนผู้ให้บริการเวลาให้บริการไปแล้ว เช่น รพ. เอกชนไปขอเบิกเงินจาก สปสช. ก็ไม่ได้ มีการส่งเงินให้ช้า ค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่าความเป็นจริง.

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ก.พ. 2556 (กรอบบ่าย)--