ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เสนอกรอบเจรจารัฐบาลเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพต่างด้าวผ่านอาเซียน โดยเฉพาะ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการดูแลรักษา การควบคุมป้องกันโรค เล็งขายหลักประกันสุขภาพ 1 ปีแก่ครอบครัวแรงงานต่างด้าว อยู่ระหว่างกำหนดอัตรา และจะเริ่มใช้บัตรสุขภาพประจำตัวเด็กแรกเกิดทุกคน ทั้งไทยและต่างด้าวในเดือนพฤษภาคมนี้

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ว่า เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งผลักดันขณะนี้ คือการสร้างหลักประกันสุขภาพให้เกิดความมั่นคง และดูแลครอบคลุมประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการป้องกันฐานะทางการเงินของภาครัฐไม่ให้ต้องจ่ายเงินด้านสุขภาพมากเกินไป อย่างไม่สมเหตุผล โดยจะต้องมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการคลัง เพื่อวางแผนการใช้เงินงบประมาณระยะยาวร่วมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตประเทศไทยจะตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ เพื่อกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการรองรับการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้เตรียมการไว้รองรับ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มต่างชาติที่อยู่ตามแนวชายแดนที่ข้ามมารักษาในไทย ในระยะสั้นจะใช้วิธีการเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย เพราะหากใช้ระบบการขายประกันสุขภาพ อาจได้ผลน้อย จะมีเพราะจะมีเฉพาะผู้ที่ป่วยเท่านั้นที่จะซื้อบัตร ระบบจะไม่สามารถอยู่ได้ ส่วนระยะยาว ไทยวางแผนจะสนับสนุนด้านวิชาการให้ประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศ ผ่านทางกลไกขององค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ ยูนิเซฟ เป็นต้น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีระบบหลักประกันสุขภาพก็อาจช่วยแก้ปัญหาการข้ามมารักษาฟรีในประเทศไทยได้ และหากเก็บเงินจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้ ได้วางแนวทางไว้ 3 ทางเลือก คือ1.เบิกจากงบประมาณกลางของไทย 2.เรียกเก็บจากประเทศต้นทางของผู้ที่ข้ามมารักษา และ3.เรียกเก็บเงินบริจาคขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเจรจาในกรอบของอาเซียนต่อไป

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในไทยพร้อมผู้ติดตามและบุตรที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม คาดว่าจะมีประมาณ 2-3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กสะสมประมาณ 4 แสนคน ส่วนเด็กเกิดใหม่คาดว่ามี 1-2 หมื่นคนต่อปี จะใช้ระบบประกันสุขภาพทั้งครอบครัว ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากครม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งกำหนดอัตรา โดยประมาณเดือนพฤษภาคม กระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มให้ใช้บัตรสุขภาพประจำตัวเด็กแรกเกิด (health Card) ทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติเพื่อการดูแลต่อเนื่อง สามารถซื้อได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเด็กไทยจะได้ฟรี จะทำให้เด็กต่างชาติได้รับการดูแลทั้งเรื่องการรักษา การให้วัคซีนป้องกันโรค การดูแลสุขภาพอื่นๆ ที่จำเป็น เหมือนคนไทยทุกประการ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มต่างชาติที่ต้องใช้วีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทย จะให้ซื้อประกันสุขภาพการเดินทาง อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยว