ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กว่า 20 ปีแล้วที่สังคมไทยได้นำ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาใช้ในการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในระบบจำนวน 11.7 ล้านคน จากแรงงานทั้งประเทศกว่า 39.6 ล้านคน มีสำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ดูแล โดยมีเงินสะสมในกองทุนกว่า 991,837 ล้านบาทปัจจุบันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี บริบทของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมาก และกำลังเข้าสู่ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงน่าจะถึงเวลาที่เราควรจะทบทวน พ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีรายละเอียดที่จะแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความครอบคลุมกลุ่มแรงงาน แต่เดิม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผูกพันกับการจ้างงาน จึงครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง เช่น ลูกจ้างในโรงงาน บริษัทไม่รวมถึงกลุ่ม "แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทน"เช่น เกษตรพันธสัญญา ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้านและอื่นๆแต่ปัจจุบันการจ้างงานมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นควรขยายความครอบคลุมไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม และการจ้างงานทุกรูปแบบเข้าสู่แนวคิด "ประกันสังคมถ้วนหน้า" ประเด็นนี้น่าเป็นหลักการและแนวคิดที่สำคัญที่สุดที่ควรปรับปรุง

ประเด็นที่ 2 ความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม ที่ผ่านมามีปัญหาในการดำเนินงานที่ล่าช้า ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง บุคลากรไม่เพียงพอและขาดแคลนคุณภาพ ขาดการตรวจสอบการทำงาน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุนต่างๆ จำนวนมาก และที่สำคัญผู้ประกันตนและนายจ้างเองขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานต่างๆของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้าสู่สำนักงานได้

ประเด็นที่ 3 องค์ประกอบของคณะกรรมการ ควรประกอบด้วยคณะกรรมการที่ดูแลทั้งด้านสวัสดิการแรงงานคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการการลงทุน คณะกรรมการตรวจสอบ โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนั้นการเลือกตัวแทนแรงงานเข้ามาเป็นตัวแทนต้องมีวิธีการสรรหาตัวแทนที่สามารถเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริงเพราะวิธีการเลือกตัวแทนที่ผ่านมาเลือกมาจากสหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเท็จจริงมีสมาชิกสหภาพเพียง 3 แสนคนเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเลือกตัวแทนให้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 4 สิทธิประโยชน์ เป็นเรื่องที่ควรเร่งปรับปรุง เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นด้านการแพทย์กลับด้อยกว่าบัตรทองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่บัตรทองเพิ่งมีมาได้เพียง 10 ปีเท่านั้น และนับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้นไปทุกๆ ทีนอกจากนั้นสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานต่างด้าวบางอย่างก็ไม่เหมาะสม เช่น ว่างงานและชราภาพ คนเหล่านี้ไม่มีทางได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้เลยทั้งๆ ที่เขาต้องจ่ายเท่าคนไทย เพราะเมื่อตกงานเขาก็ต้องกลับประเทศแล้วหรือเมื่อเกษียณอายุก็ต้องกลับประเทศเช่นกัน ทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่อยากเข้าสู่ระบบประกันสังคม และที่สำคัญที่สุดผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ขณะที่คนกลุ่มอื่นยังไม่ต้องจ่ายจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้

ประเด็นที่ 5 ประเด็นอื่นๆ เช่น ความยั่งยืนของกองทุน มีงานวิชาการทั้งจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นชัดว่า หลังจากมีการจ่ายบำนาญชราภาพ กองทุนประกันสังคมเงินที่มีเงินมหาศาลจะหมดไปภายในเวลา 20 ปี จำเป็นต้องเก็บเบี้ยประกันจากผู้ประกันตนจาก 5% เป็น 10% และ 15%มากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นควรเพิ่มเพดานการเก็บเงินจากไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทให้มากขึ้นเป็นต้น และหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในอนาคตต่อไป

ช่วงนี้รัฐสภากำลังจะรับรองร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับต่างๆ ทั้งของกระทรวงแรงงาน ของภาคประชาชน และของพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผู้ประกันตนควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนต่อไป และเชื่อว่าในประเด็นสำคัญอาทิ ความเป็นองค์กรอิสระนั้น เป็นไปได้ยากที่กระทรวงแรงงานจะปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมที่มีเม็ดเงินเป็นแสนล้านบาท ที่เคยอยู่ในมือออกนอกระบบไปเป็นองค์กรอิสระที่มีความโปร่งใสตรวจสอบโดยผู้ประกันตนได้อย่างง่ายๆแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 มีนาคม 2556