ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอชนบท'ยันไม่เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นใดๆ ลุยมาตรการดาวกระจายเข้มข้นหลังสงกรานต์

กรณีชมรมแพทย์ชนบท พร้อมแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขประจำโรงพยาบาลชุมชนประกาศเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย ต่อต้านระเบียบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการปรับแนวทางจ่ายค่าตอบแทนใหม่โดยอิงวิธีคิดแบบผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P:Pay for Performance) พร้อมชูตัวเลขทำงานแทบตายได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันไม่ลาออกนั้น

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เคยเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. ลาออกจากตำแหน่ง เพราะทราบดีว่าไม่มีทางลาออก เนื่องจากยึดติดตำแหน่งอยู่ แต่พวกตนเรียกร้องขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี สธ.ใหม่ เพราะคนปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม ไม่เข้าใจระบบการทำงานของสาธารณสุขแม้แต่น้อย มุ่งเน้นแต่ภาคเอกชน เห็นได้ชัดจากการใช้พีฟอร์พี ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่เหมาะกับโรงพยาบาลภาครัฐ แต่เหมาะกับภาคเอกชนที่มีเงิน เนื่องจากพีฟอร์พี โดยหลักหากจะให้บังเกิดผลจริง ต้องไม่กำหนดเพดาน แต่ระเบียบของ สธ.กลับกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1 เรียกว่าเป็นแบบปลายปิด ดังนั้น การที่ สธ.ประกาศว่าใครทำงานมากก็จะได้ค่าตอบแทนมาก ล้วนเป็นเรื่องโกหก เพราะสุดท้ายทำงานแทบตายก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี

"สำหรับการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายนั้น ที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งเริ่มทยอยทำแล้ว ทั้งขึ้นป้ายต่อต้าน สวมชุดดำ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนในเรื่องล่ารายชื่อ 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อวุฒิสภาขอให้ถอดถอนรัฐมนตรี สธ. และการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รวมถึงร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คาดว่าจะดำเนินการได้หลังช่วงสงกรานต์" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว และว่า ที่แน่ๆ การฟ้องต่อศาลปกครองจะเน้นในเรื่องการละเมิดสิทธิ อยู่ระหว่างพิจารณา เบื้องต้นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคน และละเมิดสิทธิของประชาชน กรณีหากไม่มีหมอก็จะส่งผลต่อการรักษานั่นเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ที่ สธ.เปิดช่องให้เสนอข้อคิดเห็นเรื่องนี้ภายในวันที่ 19 เมษายนหรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ไม่ เพราะไม่ได้รับการเชิญใดๆ และหากได้รับการเชื่อก็ต้องพิจารณาอีกว่า จะเข้าร่วมดีหรือไม่ดี เนื่องจากหากเสนอไปแต่ไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การออกมาคัดค้านพีฟอร์พี เพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมสำหรับแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากการคิดคำนวณค่าพีฟอร์พี ไม่ได้มากเหมือนที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร่ำบอก ข้อเท็จจริงกลับเป็นการควบคุมวงเงิน เรียกว่าเป็นการคุมวงเงินแบบปิด กล่าวคือ กำหนดชัดให้วงเงินพีฟอร์พีอยู่ที่ร้อยละ 1 เมื่อคำนวณทุกอย่างแล้ว ผลตอบรับที่ได้ไม่คุ้มค่าเลย ยกตัวอย่าง สมมุติเงินเดือนแพทย์อยู่ที่ 100 บาท เมื่อคิดค่าพีฟอร์พีที่ร้อยละ 1 จะเท่ากับ 1 บาท ส่วนพยาบาลสมมุติได้รับเงินเดือน 200 บาท คิดพีฟอร์พีร้อยละ 1 จะเท่ากับ 2 บาท สรุปเงิน พีฟอร์พีจะอยู่ที่ 3 บาท และให้นำไปคิดคำนวณค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาชีพ แพทย์จะมีค่าน้ำหนักอยู่ที่ 1.00 ส่วนพยาบาลจะอยู่ที่ 0.25 ดังนั้น ต้องนำเงินพีฟอร์พี 3 บาทมากระจายให้แต่ละวิชาชีพตามค่าน้ำหนัก หากแพทย์มี 2 คน พยาบาลมี 3 คน เงินที่ได้จะต้องมาเฉลี่ยอีก กลายเป็นว่าได้กันไม่ถึงบาทด้วยซ้ำ

นพ.อารักษ์กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการคำนวณในแต่ละโรงพยาบาล ที่ผ่านมาได้เปิดเผยข้อมูลจากโรงพยาบาลภาคอีสานแห่งหนึ่ง มีบุคลากรรวมทั้งหมด 386 คน แบ่งเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ ทั้งสายบริการ เช่น พนักงานช่วยเหลือคนไข้ และสายสนับสนุน เช่น แม่บ้าน โดยเงินเดือนรวมทั้งหมดทุกคนอยู่ที่ 5,563,938 บาท ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเกณฑ์บาท ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเกณฑ์ระเบียบฉบับที่ 4 ของโรงพยาบาลชุมชนอีก 611,000 บาท และค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามระเบียบฉบับที่ 6 อีก 279,9000 บาท รวมเงินทั้งหมด 6,454,838 บาท เมื่อคำนวณตามระเบียบวงเงินร้อยละ 1 เพื่อจะได้เป็นค่าพีฟอร์พีนั้น ปรากฏว่า ได้เพียง 55,639 บาท ตัวเลขนี้ต้องนำไปแบ่งตามสัดส่วนค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาชีพ 386 คน พบว่าคนที่ได้มากสุดได้เพียง 817 บาทต่อเดือน ส่วนต่ำสุดจะได้แค่ 41 บาทต่อเดือน เงินเพียงเท่านี้ยุติธรรมกับแต่ละวิชาชีพแล้วหรือ ดังนั้น จากนี้ไปจะกระจายข้อมูลข้อเท็จจริงตรงนี้ให้สาธารณะทราบ ผ่านสื่อออนไลน์ และผ่านบุคลากรโรงพยาบาลไปสู่ประชาชนให้เข้าใจว่า เพราะอะไรหมอจึงต้องทยอยลาออกกัน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับการคำนวณค่าพีฟอร์พีนั้น ไม่ได้น้อยอย่างที่เข้าใจ อยู่ที่ฐานการคำนวณมากกว่า เพราะข้อเท็จจริง นอกจากจะคำนวณจากเงินเดือน ค่าแรง เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 แล้ว ยังมีเงินอีกก้อนที่ถูกยกมา กล่าวคือ ในระเบียบค่าตอบแทนแบบผสมผสานนั้น จะแบ่งเป็นพื้นที่ทั่วไปที่จะลดเงินเดือนลงส่วนหนึ่งนั้น เงินที่ถูกลดจะถูกนำมารวมกองไว้ และนำมาบวกรวมกับเงินเดือนปกติ และค่าแรงต่างๆ จากนั้น ก็จะมาคำนวณตามเกณฑ์ร้อยละ 1 อย่างน้อยก็จะได้รับเงินเท่าเดิมอยู่ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ สธ.อยู่ระหว่างชี้แจงข้อเท็จจริง ผ่านทางผู้ตรวจราชการกระทรวง นายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ จริงๆ แล้วร้อยละ 1 ที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์เบื้องต้น หากโรงพยาบาลไหนมีสถานะการเงินดีจะเพิ่มก็ได้ ส่วนเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ ก็จะมีคณะกรรมการระดับเขต ที่มีผู้ตรวจราชการฯเป็นประธานคอยดูแลอีกขั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ณรงค์ ได้ลงนามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 0201.042.4/ว 295 เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 8) และ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2556 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องรายละเอียดการดำเนินการการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน" ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังอธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และนิติกรสำนักงานสาธารณสุข จังหวัด(รพ.สต.) และนิติกรสำนักงานสาธารณสุข จังหวัด

สำหรับประกาศกระทรวง เรื่องรายละเอียดการดำเนินการการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ระบุว่า ให้หน่วยบริการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาค่าคะแนนผลการปฏิบัติงานของหน่วยบริการ ซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพและกลุ่มงานต่างๆ แบบมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำข้อเสนอการดำเนินการในหน่วยบริการ และให้มีคณะกรรมการตรวจสอบค่าคะแนนผลการปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการดำเนินการและการติดตามประเมินผลของหน่วยบริการ สำหรับค่าคะแนนประกันผลการปฏิบัติงานขั้นต่ำของแต่ละวิชาชีพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฉบับที่ 5 โดยแพทย์และทันตแพทย์ต้องทำงานขั้นต่ำอยู่ที่ 2,200 คะแนน เภสัชกร 1,440 คะแนน นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข 1,200 คะแนน พยาบาลเทคนิค และเจ้าพนักงานเทคนิค 960 คะแนน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่เทคนิค 720 คะแนน เป็นต้น

วันเดียวกัน เครือข่ายแพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรื่องขอย้าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. ออกจากกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 นำโดย นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา และผู้ประสานงานเครือข่ายแพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ว่า ตามที่ชมรมแพทย์ชนบท ทันตแพทย์ เภสัชกรและวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ รวมทั้งเครือข่ายแพทย์ ดีเด่น ศิริราชพยาบาล ได้เสียสละออกมาเคลื่อนไหวโดยไม่หวั่นเกรงอำนาจที่ไม่ชอบ ชี้ให้สังคมเห็นว่าระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนในชนบท จนเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ขณะนี้กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ใกล้ตกเหวเพราะมีหมอที่ไม่เป็นที่ยอมรับของหมอ ไม่มีประสบการณ์และไม่รู้จักปัญหาสาธารณสุขในชนบท เพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขของไทยล่มสลาย ประชาชนในชนบทเดือดร้อน เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเร่งแก้ปัญหา ดังนี้ 1.ยกเลิกมติ ครม.เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน และกลับไปใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายสำหรับโรงพยาบาลชุมชนตามเดิม ก่อนที่บุคลากรสาธารณสุขจะลาออกมากกว่านี้ 2.ช่วงเทศกาลสงกรานต์หยุดยาวขอให้ส่ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ไปร่วมให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้มีประสบการณ์และเห็นปัญหาสาธารณสุขที่แท้จริง และ 3.ขอให้ย้าย หรือปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากกระทรวงสาธารณสุข

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 เมษายน 2556