ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามงานผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีทุกกรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ว่า ในวันนี้เป็นการประชุมติดตามงานจากผู้บริหาร การดำเนินงานตามตัวชี้วัดและภาระกิจของกรม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ เรื่องที่1.การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวมขณะนี้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ใช้ไปแล้วกว่าร้อยละ 40 แต่ต้องการให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ได้มอบนโยบายให้ทุกส่วนวางแผนการใช้งบประมาณ ในปีงบประมาณ 2557 ไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องการก่อสร้างและการใช้งบประมาณต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว เพื่อเริ่มดำเนินการได้ทันที่เมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณ 2557 ในเดือนตุลาคม 2556 นี้ขณะนี้ยังมีเวลาอีก 4-5 เดือน ในการวางแผนใช้เงินได้เร็วขึ้นและทันเวลา ลดปัญหาการใช้งบประมาณด้านการก่อสร้างและงบลงทุนต่างๆให้น้อยลง ทั้งนี้ขอให้มีการใช้เงินหรือเบิกเงินสูงสุดในช่วงปลายปี เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ส่วนการวางแผนการใช้งบประมาณในปีงบประมาณ 2558 จะเน้นเรื่องการลด การลงทุนที่ซ้ำซ้อนเป็นหลัก เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดระบบเป็นเขตบริการสุขภาพ มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

เรื่องที่ 2.การปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงตามแผนการพัฒนาระบบบริการ จะเดินหน้าดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างควบคู่ไปกับเรื่องกำลังคน เพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้แจ้งกับคณะรัฐมนตรีในการขออัตรากำลังเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการที่จะได้รับในผลการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานที่ใช้แบบเขตบริการสุขภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและใช้คนร่วมกันให้ได้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 กรกฎาคม 2556 สำหรับประโยชน์ดำเนินการตามแผนนี้จะเอื้อต่อการบริการประชาชน เช่น ลดการรอคิวรักษาผ่าตัดที่สำคัญ เช่นโรคหัวใจ ผ่าตัดต้อกระจกหรือหากเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหากได้รับยาละลายลิ่มเลือดจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนสื่อสารประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างง่ายๆ

เรื่องที่3.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่จะลงไปจัดการเมื่อเกิดปัญหาแล้วเหมือนที่ผ่านมา ต่อไปจะต้องเน้นยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุกป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เช่น เดิมการตรวจสอบสารพิษตกค้างในอาหารจะมีเพียงการทำรายงานเพื่อทราบเท่านั้น แต่ต่อไปจะเป็นการวางแผนและดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาสารพิษตกค้างส่วนในเรื่องการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะมีขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ มีขั้นตอนกำหนดระยะเวลาชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการแอบอ้างไปเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆจากผู้ประกอบการ

เรื่องที่ 4.เรื่องบัตรสุขภาพของแรงงานต่างด้าว(Health Card) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2556 ให้เด็กที่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว ได้มีสิทธิซื้อบัตรสุขภาพเด็ก ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่จะเข้าไปดูแลต่างด้าวทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ตามสถานะภาพที่อยู่ในประเทศไทย โดยคนไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฟรี ส่วนเด็กต่างด้าวจะมีบัตรสุขภาพเด็ก ที่คิดในอัตรายึดตามหลักมนุษยธรรม คือราคา 365 บาทต่ 1 บาท ในส่วนของต่างด้าวที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องซื้อประกันสุขภาพเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณต้นทุนใหม่ ให้เป็นอัตราที่เหมาะสม ไม่ขาดทุน แต่หากคนกลุ่มนี้ไม่ยอมซื้อประกันสุขภาพ เพราะว่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากในครั้งเดียว จะมีการคิดต้นทุนเป็นราคาต่อครั้ง ทั้งนี้การมีบัตรสุขภาพต่างๆ เป็นนโยบายในเชิงรุกด้านสุขภาพที่ต่อเนื่องกับการดำเนินการในศูนย์ช่วยได้ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนโยบายในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เช่น เรื่องท้องวัยใส เป็นมาตรการในเรื่องการป้องกันก่อนที่จะต้องมารักษาเยียวยา

เรื่องที่ 5.การบริหารเวชภัณฑ์ การเพิ่ม/ขยายพื้นที่คลังกระจายสินค้า(Depot)ได้กำชับกระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมดำเนินการร่วมกัน คือ การจัดทำคลังสินค้ากระจายตามภูมิภาคเพราะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้มีการเก็บยาในอัตราส่วนที่เหมาะสม เป็นความมั่นคงในกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ มียาสำรองไว้ใช้ช่วยกันได้ระหว่างภาค และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกยาของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมได้รายงานว่าดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 4 แห่ง จากแผนที่จะดำเนินการ 10 แห่ง ได้กำชับว่า ต้องมีแผนดำเนินการให้เกิดผลจริง และสภาพคลังสินค้าให้มีความเหมาะสมในการเก็บยา