ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้รายงานผลการตรวจสอบการใช้วัตถุดิบของบริษัทที่รับจ้างผลิตยาพาราเซตามอลชนิดแผงให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.)แล้ว เท่าที่ทราบบริษัทใช้วัตถุดิบแหล่งเดียวกับ อภ.แต่ซื้อเองไม่ผ่านตัวกลางนำเข้าและเจอปัญหาคุณภาพวัตถุดิบเช่นกัน 10 กว่าลอตแต่ได้คืนวัตถุดิบไปแล้ว จึงได้ให้ อย.ตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีการนำไปขายต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าอดีตรัฐมนตรีเป็นกรรมการบริษัทที่ผลิตยาให้ อภ.มีนัยอะไรหรือไม่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่ทราบ อดีตรัฐมนตรีท่านนั้นก็ต้องอธิบายว่ามีนัยอะไรหรือไม่ เหมือนตนถ้าเคยเป็น รมว.สาธารณสุขพอออกไปแล้วไปถือหุ้นบริษัทที่มีการค้าขายกัน ก็คงไม่มีอะไร ต้องเชื่อความบริสุทธิ์ใจกันเพราะท่านเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีคงไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ ก็ถูกต้องตามกฎหมาย แต่บางอย่างจะถูกหลักจริยธรรมหรือไม่เป็นอีกเรื่องเพราะสังคมอาจจะมีข้อคำถามว่าตอนที่บริษัทรับจ้างผลิตยานั้นเมื่อไหร่ อย่างไรมีการดำเนินการโดยสุจริตหรือไม่ มีการใช้อำนาจอะไรหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็คงไม่เป็นไร

เมื่อถามว่า เลขาธิการ อย.ระบุว่าบริษัทที่ผลิตยาพาราเซตามอลให้กับ อภ.นำเข้าวัตถุดิบชนิดผงแล้วมาผสมเองไม่ได้นำเข้าแบบผสมเสร็จ หรือ ดีซี เกรด นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า อย. เพียงแต่อธิบายว่า บริษัทที่รับจ้างผลิตกำลังจะเปลี่ยนไปใช้แบบผสมเสร็จ ซึ่งได้ทำเรื่องขออนุมัตินำเข้าและได้รับการอนุมัติแล้ว ต่อข้อถามถามถึงกรณีที่โรงงานเภสัชกรรมทหาร ตีกลับวัตถุดิบพาราเซตามอลไปให้ หจก.ที่นำเข้าวัตถุดิบแต่มีการนำไปขายต่อให้ 2 บริษัทจำนวน 7 ตันโดยบริษัทแห่งหนึ่งนำไปผลิตยาแล้วเพราะตรวจวิเคราะห์ผ่าน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตามหลักวิชาการถ้าตรวจสอบแล้วปลอดภัยเอาไปใช้ได้ แต่โดยหลักการคงไม่มีใครยอมรับได้ว่า ถ้าของที่ถูกรีเจ็กซ์แล้วไปใช้อีก

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้ อภ. รายงานการสำรองวัตถุดิบหรือยาที่มีมูลค่าสูงเกินกว่า 1 แสนบาท ที่เก็บเอาไว้และใกล้หมดอายุ หรือมีอายุการใช้งานต่ำกว่า 1 ปี ให้ทราบ เมื่อถามว่าช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เคยมีข่าวการสำรองวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ประมาณ 500 ล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ทราบว่ามีการนำไปใช้ผลิตยาแล้วจำนวนหนึ่ง ยังเหลือวัตถุดิบประมาณ 300 ล้านบาท ดังนั้นเรื่องนี้ทาง อภ. อย.และกรมควบคุมโรคคงต้องไปหารือร่วมกันว่าหากมีการนำไปผลิตยาเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 เมษายน 2556