ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประดิษฐ" สั่งการบ้านผู้บริหาร สธ. เดดไลน์เขตบริการสุขภาพ 1 ก.ค. ดีเดย์บัตรประกันสุขภาพเด็กแรงงานต่างด้าว 1 มิ.ย. เดินหน้าสร้างคลังสต๊อกยา หลังเสร็จแล้ว 4 แห่ง ลั่นไม่ถอย  P4P ให้กลุ่มแพทย์ชนบท

วานนี้ (29 เม.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ว่าตนได้กำชับการดำเนินการ 4  เรื่องหลัก ได้แก่1.การเดินหน้าปรับโครงสร้างระบบสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเขตบริการสุขภาพ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ก.ค. เพื่อแสดงถึงการปรับปรุงคุณภาพบริการ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันและลดความซ้ำซ้อนการใช้กำลังคนของสถานพยาบาลภายในเขตบริการเดียวกัน สอดคล้องกับการใช้อัตรากำลังคนเพิ่มในการบรรจุลูกจ้างประจำของ สธ.เป็นข้าราชการใน ต.ค. 2556

2.บัตรสุขภาพสำหรับเด็กแรงงานต่างด้าวที่เกิดในไทย มีสิทธิซื้อประกันสุขภาพในอัตรา365 บาทต่อปี โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นคนต่างด้าวในประเทศต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเองเช่นกัน โดยสั่งการให้คำนวณต้นทุนการให้บริการใหม่เป็นอัตราที่เหมาะสมโดยไม่ให้ประเทศต้องขาดทุน และหากไม่ยินยอมซื้อประกันสุขภาพเพราะราคาครั้งเดียวสูง ให้พิจารณาทบทวนต้นทุนราคาการใช้บริการต่อครั้ง เพราะขณะนี้คิดค่าบริการตามต้นทุนเก่า

3.การทำคลังสินค้าตามภาคต่างๆ ระหว่างสธ.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้มีการเก็บยาในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสำรองกรณีฉุกเฉินต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกยา ซึ่งได้รับรายงานว่าดำเนินการไปแล้ว 4 แห่งและในปี 2556 จะดำเนินการอีก 10 แห่ง และ4.ดำเนินการให้บทบาทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะปัจจุบันเน้นเรื่องเชิงการรักษามากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ต้องมีการเพิ่มบุคลากร

"ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P จะไม่มีการถอยในเรื่องนี้และเดินหน้าตามหลักการต่อไปตามปกติ แต่ในส่วนของหลักเกณฑ์การดำเนินการ เช่น การจัดแบ่งพื้นที่สถานพยาบาล ผมย้ำเสมอว่าสามารถมาหารือทบทวนร่วมกันได้ ซึ่งการดำเนินการมีการทบทวนปรับปรุงตลอดเวลาอยู่แล้ว" นพ.ประดิษฐ กล่าว

วันเดียวกัน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุถึงการส่อทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งสธ.ได้สั่งชะลอการจัดซื้อแล้ว ว่า การจัดซื้อขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยอิงระเบียบการจัดซื้อจัดหาพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี และเท่าที่มีการดำเนินการขณะนี้ยังไม่มีการทำผิด ดังนั้น จังหวัดที่ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วสามารถดำเนินการกระบวนการจัดซื้อต่อไปส่วนการให้ อสม.ใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดนั้นสามารถทำได้ เพราะได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพให้เจาะเลือดจากเส้นเลือดฝอยปลายนิ้วตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 30 เมษายน 2556