ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอประดิษฐ'ส่งเรื่องจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราฯให้ ปธ.บอร์ด อภ.ลุยต่อ หลัง'ดีเอสไอ'สรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ฟัน 2 หมอ 'วิชัย-วิทิต' ด้าน'ธาริต'ยันพบ พิรุธหลายปม

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงผลการสืบสวนกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา มีผู้เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ. และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ (บอร์ด) อภ. โดยในส่วน นพ.วิทิต นอกจากความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เนื่องจากไม่เปิดให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม สั่งซื้อวัตถุดิบมาโดยไม่มีแผนการผลิต และไม่มีการผลิต ยังเข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ส่วนกรณี นพ.วิชัย เข้าข่ายกระทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 เนื่องจากรับทราบการดำเนินการแต่มิได้ท้วงติงการจัดซื้อ

นายธาริตกล่าวว่า สำหรับประเด็นร้องเรียนเรื่องการปนเปื้อนวัตถุดิบพาราฯ และกรณีความผิดปกติในการจัดสร้างโรงงานผลิตวัคซีนนั้น อยู่ระหว่างสืบสวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอส่งสรุปผลการสอบสวนให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อนำไปดำเนินการทางวินัยหรือทางบริหารภายในต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี นพ.วิทิต เลื่อนเข้าให้ข้อมูล แต่ดีเอสไอสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.อาจถูกมองว่าไม่ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า นพ.วิทิตให้การเป็นลายลักษณ์อักษรไว้แล้ว อีกทั้ง พนักงานสอบสวนเห็นว่าพยานเอกสารหลักฐานที่รวบรวมได้เพียงพอต่อการสรุปส่งให้ ป.ป.ช. ที่ นพ.วิทิต ติดต่อเข้าให้ข้อมูลกับดีเอสไอในวันที่ 7 พฤษภาคมนั้น เป็นเรื่องโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นายธาริตกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมาหลายคดีที่ดีเอสไอไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงในชั้นนี้ เช่น กรณีการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396  แห่ง ดีเอสไอก็ไม่จำเป็นต้องเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯมาชี้แจง เพราะเป็นเพียงการสอบสวนเบื้องต้น ที่พบว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาจเข้าข่ายกระทำผิด จึงต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณา ผู้ถูกกล่าวหา สามารถไปชี้แจงในชั้นการสอบสวนของ ป.ป.ช.ได้

นายธาริตกล่าวว่า ประเด็นที่พบความผิดปกติ เช่น 1. อภ.หยุดผลิตยาพาราฯตั้งแต่ปี 2545-2556 โดยว่าจ้างให้โรงงานเภสัชกรรมทหาร และบริษัท โอสถอินเตอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตโดยใช้ชื่อ อภ. ซึ่งผู้รับจ้างจะจัดหาแหล่งวัตถุดิบเอง  2.โรงงานเภสัชกรรมทหารจัดหาแหล่งผลิตยาพาราฯ จากผู้ผลิตเพียงรายเดียวและอ้างว่าเป็นแหล่งที่ทดลองผลิตได้ผลดี แต่เมื่อนำวัตถุดิบจากแหล่งผลิตดังกล่าวมาผลิตจริงกลับพบสิ่งปนเปื้อนในวัตถุดิบพาราเซตามอล 90% DC

3.ทั้งที่อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารผลิต แต่ อภ.กลับสั่งซื้อและรับมอบวัตถุดิบพาราฯ ไว้ทั้งที่ยังผลิตไม่ได้ 4. อภ.จัดซื้อวัตถุดิบพาราฯ โดยวิธีพิเศษ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการขาดแคลนหลังภาวะน้ำท่วม โดย นพ.วิทิต อนุมัติให้ดำเนินการ 5.จากเอกสารรายงานของ อภ.เกี่ยวกับการจัดซื้อยาพาราฯปรากฏว่าที่ผ่านมา อภ. จัดหาวัตถุดิบพาราฯเพียง 150-600 กิโลกรัมเท่านั้น

"ดีเอสไอสรุปสำนวนด้วยพยานเอกสารหลักฐาน ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือนั่งเทียนเขียนข้อมูลกล่าวหาใคร ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกอย่างมีเอกสารยืนยัน ขอให้สบายใจได้ ทุกอย่างมีเหตุผลและมีคำตอบทุกเรื่อง" นายธาริตกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ นพ.วิชัย เข้าข่ายการกระทำผิด ป.อาญา มาตรา 157  เนื่องจาก นพ.วิชัยให้การยอมรับกับพนักงานสอบสวนว่ารับทราบเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบจำนวนดังกล่าวอย่างละเอียดว่ากระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร รวมถึงเหตุผลในการจัดซื้อจากบริษัทดังกล่าวเพราะเหตุผลใด แต่ไม่ได้ห้ามหรือคัดค้าน

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ดีเอสไอส่งเรื่องดังกล่าวให้ตนด้วยในฐานะเป็นต้นเรื่อง โดยแจ้งว่าคำอธิบายของผู้อำนวยการ อภ. ไม่สมเหตุผลในเรื่องการสั่งวัตถุดิบยาพาราเซตามอลในช่วงน้ำท่วม และเห็นว่าอาจทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล มาตรา 12 และกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ นพ.วิชัย อดีตประธานบอร์ด อภ. อาจมีความผิดในฐานะรับรู้เรื่องนี้ แต่ไม่ขัดขวางเรื่องที่คิดว่าไม่ถูกต้อง เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องสั่งพักงานผู้อำนวยการ อภ. หรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ส่งเรื่องให้ประธานบอร์ด อภ. พิจารณาตามขั้นตอน และคงตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องอื่นๆ เช่น โรงงานวัคซีน เรื่องยาโครพิโดเกล หรือยาโรคหัวใจ และโรงงานผลิตยาเออาร์วี หรือยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ เป็นเรื่องที่บอร์ด อภ.พิจารณา แต่ผู้อำนวยการ อภ.ยังทำงานได้ เพราะเป็นการชี้มูลของดีเอสไอส่งไปยัง ป.ป.ช. ส่วนความผิดวินัยจะเป็นหน้าที่ของบอร์ด อภ.พิจารณา ส่วนความเสียหายทางแพ่งต้องรอการสอบสวนก่อน หากมีความเสียหายก็จะเรียกร้อง คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด อภ.เพื่อพิจารณา

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า สิ่งที่ดีเอสไอสอบสวน ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ เพราะต้องมีหลักฐาน มิฉะนั้นจะถูกฟ้องกลับได้ การสอบสวนแต่ละเรื่องผลจะออกมาเรื่อยๆ สิ่งที่มีปัญหาหลายเรื่อง เห็นได้ชัดว่าเป็นความบกพร่อง ความอ่อนแอของฝ่ายจัดการ เช่น เรื่องนำยาใกล้หมดอายุมาดำเนินการ ได้ถามแล้วว่าทำไมนำยาใกล้หมดอายุมาทำเรื่อยๆ ทำไมไม่วางแผนนำออกมาผลิตให้นานหน่อย เพราะการนำมาผลิตช่วงใกล้หมดอายุ มันเป็นเส้นบางๆ ว่าทำด้วยความหวังดีหรือกลบเกลื่อนอะไร ทุกเรื่องหากบริหารจัดการที่ดีก็ไม่มีปัญหา ต้องตอบได้ว่าล่าช้าเพราะอะไร ไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นการทุจริตหรือหลบเลี่ยงกฎระเบียบอะไร ต้องให้ผู้มีอำนาจฝ่ายกฎหมายดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเหตุใดจึงเอาผิดเฉพาะตัวบุคคล ไม่เอาผิดบอร์ด อภ. เพราะการทำงานของ อภ.ขึ้นอยู่กับอำนาจบอร์ด นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ผู้อำนวยการ อภ. เป็นผู้บริหารสูงสุดในฝ่ายจัดการ จึงต้องรับผิดชอบ ส่วน นพ.วิชัย เท่าที่ทราบ มีการยอมรับกับดีเอสไอว่า ทราบเรื่อง ในฐานะผู้บริหารสูงสุดฝ่ายนโยบาย เมื่อมีการรับรู้ แต่ไม่ยับยั้งเรื่องนี้ ทำให้อาจเข้าข่ายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลจะมีแรงต้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะมีเหตุผลมีข้อมูลต่างๆ สหภาพฯควรกลับมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้อีก แต่ขอย้ำว่าการชี้มูลของดีเอสไอ เป็นแค่การชี้มูลเบื้องต้น ไม่ได้บอกว่าผิด ต้องพิสูจน์กันอีก

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า จะแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวในวันที่ 2 พฤษภาคม

นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. กล่าวว่า สหภาพ อภ.ไม่ได้คัดค้านกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสของ อภ. แต่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ อภ.

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การตรวจสอบการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าขั้นตอนการสอบสวนเอกสาร หลักฐาน และพยานต่างๆ ดำเนินการอย่างรวดเร็วผิดปกติ เชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นน่าจะมีความไม่ชอบมาพากล

"กรณีนี้คงหนีไม่พ้นเป็นประเด็นการเมือง โดยเฉพาะในส่วน นพ.วิชัย ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในฐานะประธานบอร์ด อภ. หากเป็นความรับผิดชอบของบอร์ดโดยตรง เหตุใดจึงฟ้องร้องเฉพาะ นพ.วิชัย ไม่ฟ้องบอร์ดทุกท่าน" น.ส.สารีกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 พฤษภาคม 2556