ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน จึงสั่งการให้กรมควบคุมโรค (คร.) ออกประกาศเรื่องการป้องกันโรคในฤดูฝน ส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญในกลุ่ม ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรง เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อจากเชื้อโคโรนาไวรัส และไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 และ H5N1 ด้วยการ คัดกรองและซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในไทยก็ตาม

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคที่พบใน ฤดูฝนและน้ำท่วมมี 5 กลุ่ม รวม 17 โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ พบบ่อย 5 โรค คือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบหรือปอดบวม เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในอากาศ ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วย โรคเรื้อรังต่างๆ หากป่วยเป็นปอดบวมอาจ เสียชีวิตได้ โดยจะมีอาการที่สังเกตได้คือมีไข้สูง หายใจเร็ว หรือเหนื่อยหอบ 2.โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อยคือการกินเห็ดพิษที่ช่วงหน้าฝนจะขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า และอาจเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ทำให้มีความเสี่ยงที่ประชาชนจะบริโภคน้ำดื่มหรือกินอาหารที่ไม่สะอาดหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเดินหรืออุจจาระร่วง อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า 3.โรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่างๆ มี 4 โรค คือ ไข้เลือดออก จากยุงลายตามบริเวณบ้าน โรคมาลาเรียจากยุงก้นปล่องที่อาศัยอยู่ในป่า โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) เกิดจากถูกยุงรำคาญซึ่งมักอยู่ในแหล่งน้ำในทุ่งนากัด และโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่หนู สุนัข โค กระบือ และสัตว์ฟันแทะต่างๆ เชื้อจะปะปนในดินโคลนที่ชื้นแฉะ ทั้ง 4 โรคจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก โดยโรคฉี่หนูจะมีอาการเด่นคือ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง 4.โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส ซึ่งพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้ประปรายทั้งปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝนโดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กต่างๆ และ 5.โรคที่มักเกิดในภาวะน้ำท่วมมี 2 โรค ได้แก่ โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกเข้าตา และโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา จากการทำงานที่ต้องลุยในน้ำสกปรก นานๆ หรือเดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตก ใส่รองเท้าอับชื้น และถูกสัตว์มีพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบ้านเรือน

"ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝน ในปี 2555 ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค. พบ ผู้ป่วยจาก 17 โรค ที่กล่าวมารวม 880,146 คน มากที่สุดคือโรคปอดบวม 108,381 คน ไข้หวัดใหญ่ 46,754 คน ไข้เลือดออก 44,167 คน และโรคมือเท้าปาก 33,093 คน มีผู้เสียชีวิต 764 คน จากปอดบวมมากที่สุด 623 คน ไข้เลือดออก 59 คน ไข้ฉี่หนู 31 คน กินเห็ดพิษ 23 คน มาลาเรีย 12 คน" ปลัดสธ. กล่าว

ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค รวมทั้งล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังลุยน้ำย่ำโคลน หรือสวม รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู อย่าให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทำลายลูกน้ำยุงตามภาชนะเก็บกักน้ำในบ้านและรอบบ้าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า