ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยติดอันดับ3โลกตายบนท้องถนน   สาธารณสุขเพิ่มศักยภาพบุคลากรเฝ้าระวัง  ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการเดินทางของคนไทย โดยเน้นมาตรการป้องกันปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร เช่น การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ การคาดเข็มขัดนิรภัย และไม่ขับรถเร็ว เป็นต้น จากข้อมูลสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การบาดเจ็บเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศไทยในทุกกลุ่มอายุ และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มอายุ 5 ปีขึ้นไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งจากรายงาน Global Status Report on Road Safety ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2012 ประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่อันดับ 3 ของโลกที่มีอัตราการตายสูงสุดจากอุบัติเหตุทางถนน จากปัญหาเหล่านี้ทำให้ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และประมาณการค่าเสียหายสูงถึง 2.3 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการจัดระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บและพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในด้านนี้

ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการดำเนินงานระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ(IS) ว่า ปัจจุบันกรมควบคุมโรค มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ที่เป็นรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ โดยมุ่งประเด็นไปที่วิธีการแก้ไขปัญหาแบบภาพรวม เน้นการทำงานที่เป็นระบบ การส่งเสริมให้ใช้ข้อมูลและกลยุทธ์ด้านการบังคับใช้(enforcement) ให้เกิดแผนปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการดำเนินการด้านข้อมูลเพื่อการประเมินผล โดยให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันในภาคีเครือข่าย

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ(IS) พบว่า สาเหตุโดยทั่วไป ของการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มปัจจัยด้านคน จากรายงานของ IS พบข้อมูลที่สำคัญว่าผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นและวัยแรงงาน อายุระหว่าง 15–24 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย สัดส่วนผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากร้อยละ 83.5 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 87.2 ในปี 2554 2.กลุ่มปัจจัยด้านยานพาหนะ จากข้อมูลของ IS พบยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์มีมากถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือรถกระบะหรือปิกอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะ 3.กลุ่มปัจจัยด้านถนน โดยพบว่าถนนรองมักเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้มีสาเหตุอยู่หลายประการ เช่น ผิวจราจรเป็นหลุม ทางโค้งที่ขาดเครื่องหมายเตือน สัญญาณไฟชำรุด เป็นต้น 4.กลุ่มปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่เหมาะสม สิ่งก่อสร้างบนผิวจราจร เป็นต้น

 ที่มา: http://www.naewna.com