ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอ รพ.ชุมชนขู่ไม่เลิก เสนอคณะทำงานค่าตอบแทนชุด'คณิศ'ขอให้จ่ายเงินเยียวยาปัญหาพีฟอร์พีก่อนสิ้น มิ.ย. ลั่นหากไม่ได้ นัดหารือเคลื่อนไหวกดดัน ขณะที่ปัญหาตรวจสอบ อภ. ปมปลด'หมอวิทิต'ไม่จบ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงแรมเซนทารา และคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 ให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ตัวแทนสหวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ กว่า 1,000 คน จากโรงพยาบาลชุมชน 738 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หลังจากการประชุม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นัดประชุมเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย เครือข่ายวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อร่วมประชุมติดตามผลการเจรจาเกี่ยวกับปัญหานโยบายค่าตอบแทน และทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าว นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วมการประชุมด้วย โดย นพ.เกรียงศักดิ์ได้ขอความชัดเจนในประเด็นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการนโยบายจ่ายเงินตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) ว่าจะจ่ายชดเชยได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้หรือไม่ ซึ่งนายคณิศตอบในหลักการกว้างๆ และขอให้รอผลการประชุมในวันที่ 21 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ได้ชี้แจงที่ประชุมถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุข ซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1.การชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำและไม่ทำพีฟอร์พี ขณะนี้คณะทำงานจัดทำข้อเสนอทำพีฟอร์พี ขณะนี้คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทน ตั้งคณะทำงานชุดย่อยชดเชย เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบมี พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 มิถุนายน

"ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ประเด็นการเยียวยามีข้อเสนอแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือเริ่มจากแก้ไขระเบียบใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่อิงหลักเกณฑ์การจ่ายตามฉบับ 4 และ 6 โดยปรับปรุงใหม่เป็นฉบับ 10 ซึ่งต้องเยียวยาให้ได้รับไม่น้อยกว่าเดิม แต่ในส่วนของแพทย์และทันตแพทย์ ยอมลดลงให้อีกร้อยละ 30 หรือประมาณ 500 ล้านบาท โดยส่วนต่างตรงนี้ให้ไปเพิ่มในส่วนของวิชาชีพอื่นๆ กลายเป็นฉบับ 10.1 กล่าวคือวิชาชีพอื่นๆ ที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จะเพิ่มเงินให้ตั้งแต่ 300-400 บาท ระดับปริญญาตรีขึ้นไป 600-700 บาท เภสัชกรจะเพิ่มขึ้น 800-900 บาท เช่น เดิมเคยได้รับ 3,000 บาท ก็จะได้ 3,800 บาท พยาบาลเดิมได้ 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท เป็นต้น" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว และว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้คณะทำงาน ชุดที่มีนายคณิศขอดำเนินการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมีเวลาอีกประมาณ 10 วัน และขอให้เป็นไปตามข้อเสนอในการปรับระเบียบใหม่เป็นฉบับที่ 10 หากไม่ดำเนินการตามกรอบเวลากำหนด จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้งเพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวว่าจะออกมาในรูปแบบใด ส่วนฉบับที่ 10.1 สำหรับวิชาชีพอื่นๆ ขอให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งประเด็นนี้ได้พูดคุยกับนายคณิศก็เหมือนจะเห็นด้วย ไม่น่ามีปัญหา

"นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องแนวทางการทำพีฟอร์พีในบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพีคิวโอ หรือที่เรียกว่า Pay for Quality and Outcome: PQO ปัจจุบันพีฟอร์พียังใช้ฉบับ 9 ซึ่งใช้ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน แต่พวกตนมีมติว่าโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน แต่พวกตนมีมติว่าโรงพยาบาลชุมชนขอให้เป็นระเบียบใหม่ที่ไม่ใช่ฉบับ 9 โดยอาจออกเป็นฉบับที่ 11 ส่วนรายละเอียดจะเน้นรูปแบบการจ่ายพีคิวโอแบบทีมงาน ส่วนรายละเอียดจะมีการหารือในคณะทำงานชุดย่อย เรื่องกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (KPI) ของโรงพยาบาลชุมชน และ 3.การแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เพื่อเข้าไปตรวจสอบผลการทำงาน รวมทั้งผลการสอบสวนกรณีปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ตัวแทนที่เข้าไปจะมีจำนวนเท่าใด และมีจากภาคส่วนไหน เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ต้องการให้มีตัวแทนจากสหภาพเข้าร่วม เพราะมองว่าเป็นบุคคลภายในองค์กร ควรเป็นคนนอกที่เป็นอิสระมากกว่าจึงต้องหารืออีกครั้ง

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หลักการในการทำพีคิวโอ เบื้องต้นมี 4 ข้อ คือ 1.วัดที่ผลลัพธ์ที่จะได้กับผู้ป่วย โดยดู KPI ทั้งระดับกระทรวง ระดับเขต และระดับโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ 2.กรอบวงเงินมาจากไหน 3.ต้องจ่ายในรูปแบบทีมงาน และ 4.ต้องเป็นการจ่ายเพิ่ม (On Top) จากเงินค่าตอบแทน ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดในคณะทำงานชุดย่อย ที่มี นพ.เกรียงศักดิ์เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้กลับมาในรูปแบบพีคิวโอ จะไม่มากมาย โดยจะให้ในรูปแบบทีม หรือทั้งโรงพยาบาล ซึ่งเงินดังกล่าวมีการหารือกันว่าควรจัดทำเป็นกองทุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุข เป็นต้น

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--