ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สุดท้ายการดำเนินการตามนโยบายจ่ายเงินตามผลปฏิบัติงาน หรือ "พีฟอร์พี"(P4P : Pay for Performance) ก็ออกมาในรูปแบบที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นฝ่ายตั้งรับ ขณะที่กลุ่มหมอชนบทเป็นฝ่ายเดินเกมด้วยการเสนอแนวทางการจ่ายเงินที่อิงเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน เรียกว่า "พีคิวโอ" (PQO : Pay for Quality and Outcome) คือ จ่ายตามคุณภาพงานและ ผลลัพธ์ ไม่ใช่วัดที่กิจกรรมเหมือนพีฟอร์พี

น่าสนใจว่า "พีฟอร์พี กับ พีคิวโอ" แตกต่างกันอย่างไร..

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้ข้อมูลว่า การทำพีฟอร์พีไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากเป็นการวัดที่กิจกรรมยิบย่อย ไม่ว่าจะเป็นการนับคะแนนจากการผ่าตัด การตรวจวัดความดัน หรือแม้แต่การเช็ดตัวผู้ป่วย ซึ่งนับหมด ตรงนี้จะเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะทำให้บุคลากรทำงานเพื่อหวังแต้ม แต่ไม่ได้ทำด้วยใจของความเป็นผู้บริการ

สำหรับพีฟอร์พีตามที่กระทรวงได้กำหนดนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจ่ายเงินค่าตอบแทนแนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2556

โดยเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรสาธารณสุขแต่ละคน ตามผลการปฏิบัติงานทั้งงานบริการ งานบริหารและงานวิชาการ โดยผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ปริมาณภาระงานและคุณภาพงาน ที่เพิ่มขึ้นเกินจากมาตรฐานที่หน่วยงานกำหนด โดยมีหลักการพื้นฐานดังนี้ 1.เป็นค่าตอบแทนเพื่อการจูงใจ ซึ่งเป็นการจ่ายสำหรับปริมาณภาระงานปกติตามมาตรฐาน ที่หน่วยงานกำหนด ค่าตอบแทนเพื่อการจูงใจที่จะจ่ายนี้ จะผันแปรตามผลงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในแต่ละโรงพยาบาล โดยจะมีการจ่ายค่าตอบแทนนี้ภายหลังจากมีการประเมินผลงานแล้ว

2.การจ่ายค่าตอบแทนนี้ จะจ่ายเท่ากันสำหรับบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานเท่ากัน และจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าสำหรับบุคลากรที่ทำผลงานได้มากกว่า หรือดีกว่า หรือที่มีความยากมากกว่า จึงต้องมีการวิเคราะห์งานและการประเมินค่างานอย่างโปร่งใส 3.ยอมรับในหลักการที่ว่าแต่ละงานแต่ละกิจกรรมของบุคลากรสาขาต่างๆ มีความสำคัญหรือแตกต่างกันได้จากปัจจัยกำหนดหลายประการ เช่น ความยากง่ายของงาน ความเสี่ยงในการทำงาน เป็นต้น 4.ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานนี้สามารถกำหนดให้ใช้ได้กับทั้งผู้ทำงานรายบุคคล กับกลุ่มทีมงาน หรือกับหน่วยงาน ครอบคลุมทั้งงานบริการ งานบริหาร และงานวิชาการ

ส่วน "พีคิวโอ" นพ.เกรียงศักดิ์ขยายความว่า ต้องได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ และองค์กร โดยการทำงานที่ประเมินตามผลการปฏิบัติงานนั้น ต้องเป็นเคพีไอ (KPI) ที่ดูจากผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ และต้องไม่เพิ่มภาระงานกับผู้ปฏิบัติมากนัก ควรเป็นงานที่ปฏิบัติอยู่เดิม แต่พัฒนาทำให้เกิดผลลัพธ์ถึงประชาชนให้ดีขึ้น ที่สำคัญควรวัดได้ทั้งระดับบุคคล ทีมงาน โรงพยาบาล และการทำงานกับเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ โดยระยะแรกควรเน้นเคพีไอที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมก่อนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในการประเมินผลงาน นอกจากงานด้านบริหาร บริการ วิชาการ และภาพรวมขององค์กร ต้องประเมินผลลัพธ์ของคนไข้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการดีขึ้น อัตราผู้ป่วยลดลง เป็นต้น ซึ่งสามารถดูตัวอย่างการประเมินจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือแม้กระทั่งประเทศอังกฤษ ที่เป็นการประเมินในลักษณะทีมงาน ยกตัวอย่าง แผนกดูแลผู้ป่วยเบาหวาน หากสามารถลดอัตราการป่วยลง ก็จะได้รับคะแนนตรงจุดนี้ ซึ่งเงินที่ได้กลับคืนมานั้น ควรจัดทำเป็นกองทุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล เป็นต้น

สรุปคือ พีฟอร์พี และพีคิวโอ โดย หลักการไม่แตกต่างกัน แต่เป็นเรื่องของรายละเอียดในการดำเนินการมากกว่า

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 มิถุนายน 2556