ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงเป็น 36% จากเดิม10% 

ประกันสังคมเตรียมปรับกลยุทธ์ 5 ปีหน้า เน้นสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเป็น 36% ลงทุนอสังหาริมทรัพย์กับหุ้นและพันธบัตรในต่างประเทศมากขึ้น หวังเพิ่มผลตอบแทนมาใช้ดูแลสมาชิกได้นานขึ้น พร้อมลดโอกาสเงินกองทุนจะหมดในอีก 50 ปีข้างหน้า

นายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า แนวทางการจัดสรรเงินลงทุนของประกันสังคมเองในช่วง 5 ปี ข้างหน้า จะปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและสินทรัพย์เสี่ยงจากปัจจุบัน 90 ต่อ 10 ไปสู่ระดับ 64 ต่อ 36 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

โดยจะมีการลดในส่วนของหุ้นไทยลงจาก 9.8% เหลือ 8.0% และไปเพิ่มในหุ้นตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่เป็น 15.0% จากเดิมไม่มี ขณะเดียวกันจะลดสัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลไทยจากเดิม 88.0% เหลือ 51.0% และเพิ่มพันธบัตรโลกจาก 2.0% ไปสู่ระดับ 16.0%

ทั้งนี้ประกันสังคมจะมีการเพิ่มการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากเดิม 0.5% เป็น 10.0% ซึ่งเป็นแผนการปรับกลยุทธ์ในระยะยาวช่วง 5 ปี ข้างหน้าของทางประกันสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนของการลงทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 4.5% ไปเป็น 5.5% ด้วยการปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ดังกล่าวนี้ จะทำให้การลงทุนของประกันสังคมมีโอกาสขาดทุนมากกว่า 2.0% จากเดิมที่ไม่มี และจะมีโอกาสเกิดขึ้นเป็น 1 ปี ใน 20 ปี

"แม้ในแง่ของอัตราผลตอบแทนจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นมาไม่มากจากการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว คือ เพิ่มมาประมาณ 1.0% เท่านั้น แต่ข้อดีจากการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว คือ โอกาสที่เงินของประกันสังคมจะหมดลงในปี 2060 หรือประมาณ 50 ปี ข้างหน้า โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นจะลดลง จากเดิมที่มีโอกาสเกิดขึ้น 57.7% เหลือเพียง 28.5% หรือลดลงกว่าครึ่งเลยทีเดียว นั่นจะทำให้ประกันสังคมมีเงินที่จะดูแลสมาชิกได้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วย"

นายวินยังกล่าวถึงเศรษฐกิจสหรัฐว่าอัตราการว่างงานจะลดลงเหลือ 7% สิ้นปีนี้ ขณะที่จีดีพี จะโตได้ 2.0% ปีนี้และปีหน้า ทางกลุ่มยูโรโซนอัตราการว่างงานค่อนข้างสูงเฉลี่ยกว่า 10.0%  ยกเว้นกรีซ และสเปนที่การว่างงานจะสูงกว่า 25% ตลาดแรงงานในยุโรปจึงเป็นปัญหาที่แก้ยาก

ส่วนญี่ปุ่นเอง เขามองว่าท้ายสุดการใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ จะไม่ทำให้ค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงอย่างที่คาดหมายเอาไว้ อย่างไรก็ตามหากเยนเทียบดอลลาร์อ่อนค่าลงไประดับ 105 เยนต่อดอลลาร์ได้ น่าจะทำให้หุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นได้อีก เพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทเกี่ยวกับการส่งออก ปัจจุบันคนญี่ปุ่นลงทุนในหุ้นน้อยกว่าอดีตมาก

เขาเพิ่มเติมว่า หากหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นได้จริง น่าจะมีเงินกลับเข้าไปลงทุนหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวแต่ยังแข็งแกร่งจากภายใน ด้วยแนวโน้มคนจีนย้ายเข้าเมืองใหญ่มากขึ้น น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตภายในของจีนได้

"เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 4.5% ปีนี้ และกว่า 5% ปีหน้า โดยมองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาร์พี 1 วันของไทย น่าจะทรงตัวที่ 2.5% ไปจนถึงกลางปี 2557 และมีโอกาสขยับไปเป็น 3% ในสิ้นปีหน้าได้"--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ