ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ติดตามวาระสำคัญเร่งด่วน  2 เรื่อง ได้แก่ 1.ความก้าวหน้าการใช้งบประมาณในปีงบประมาณ 2556   ซึ่งตามเป้าหมายรัฐบาลกำหนดให้ได้ร้อยละ  69  ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขยังต่ำกว่าเป้าเล็กน้อยดำเนินการเบิกจ่ายได้ร้อยละ 67 เนื่องจากยังมีปัญหาระบบการจัดจ้างโดยเฉพาะรายการก่อสร้าง  ได้เร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย   และ 2 .เรื่องการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก  สถานการณ์ไข้เลือดออกขณะนี้ยังมีความรุนแรงอยู่ ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ม.ค. 2556 - 2 ก.ค. 2556 พบผู้ป่วยสะสมประมาณ 59,000 ราย เสียชีวิต 68 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานใหม่ โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล ชี้เป้าเป็นรายจังหวัดว่าจังหวัดใดที่ยังมีปัญหาใน 2 เรื่อง คือปัญหาเจ็บป่วยสูง พบผู้ป่วยต่อเนื่องในพื้นที่เดิม และด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่มียังมีปัญหาอัตราป่วยตายสูง  โดยได้เน้นว่าจะต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่และลดจำนวนทั้งการป่วยและการเสียชีวิตปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม

ในด้านของผู้ป่วยที่ยังมีจำนวนสูง  จะดูว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หรือไม่ โดยหากมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ในพื้นที่เดิมซ้ำอีก แสดงว่ามาตรการการป้องกันควบคุมโรคอาจทำยังไม่เข้มข้นพอ ทำให้ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มต่อเนื่อง ในช่วงสัปดาห์แรกที่พบผู้ป่วย อาจเป็นผลมาจากฝนตก มีน้ำขัง มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด จะต้องรีบเข้าไปดำเนินการกำจัดยุงลายทันที ไม่ให้มียุงไปกัดคนป่วยแล้วนำเชื้อไปแพร่ติดต่อคนอื่นได้อีก  แต่ถ้าสัปดาห์ที่ 2-3 ยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก  แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาของจังหวัดยังไม่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น

สำหรับปัญหาเรื่องอัตราการป่วยตายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่ยังมีอัตราการป่วยตายสูง 10 อันดับแรก  แสดงว่าการดูแลผู้ป่วยอาจจะยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งพบว่าส่วนมาก จะเป็นเรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักแล้วระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป  ยังไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อส่งผู้ป่วยไปแล้ว ทำให้โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปมีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมาก  ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้โรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากถึงขั้นช็อกได้ และให้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นช็อก เช่นมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เพราะหากส่งต่อทุกราย จะเป็นภาระของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในการดูแลผู้ป่วย และอาจเกิดความผิดพลาดได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 กรกฎาคม 2556