ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งอย.ให้ระงับการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงที่ตรวจพบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานโคเด็กชั่วคราว ให้บริษัทเก็บคืนจากท้องตลาด และเก็บตัวอย่างตรวจยืนยันอีกครั้ง พร้อมทั้งขอความร่วมมือภาคประชาชน แจ้งสธ.หากพบข้าวสารที่สงสัยว่าไม่ปลอดภัย เพื่อร่วมกันเก็บตัวอย่างตรวจตามขั้นตอนมาตรฐาน ให้ผลตรวจเป็นที่ยอมรับ ลดความสับสนแก่ประชาชน และไม่มีการปิดบังข้อมูลผลการตรวจ

วันนี้ (17 กรกฎาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีผลการสุ่มตรวจข้าวสารบรรจุถุง ว่า เรื่องความปลอดภัยของข้าวสารบรรจุถุง เป็นนโยบายที่ได้มอบไว้ให้อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำอย่างต่อเนื่อง มาตรการระยะสั้นในช่วงนี้ จะสุ่มตรวจตัวอย่างทั้งแหล่งผลิต แหล่งที่เก็บ โกดัง หรือสถานที่จำหน่ายต่างๆ กระจายทั่วประเทศ ภูมิภาค นำมาตรวจคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจ นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ หากภาคประชาชนมีข้อสงสัยว่าข้าวสารอาจไม่ปลอดภัย ขอให้แจ้งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าไปตรวจสอบ เก็บตัวอย่างข้าวพร้อมกัน และส่งตรวจโดยภาคราชการ เพื่อความน่าเชื่อถือ นโยบายรัฐบาลชัดเจนว่ายึดสุขภาพประชาชนเป็นหลัก จะไม่มีการปิดบังข้อมูลใดๆ ซึ่งการตรวจสารบางชนิด เช่นเมทิลโบรไมด์ หรือฟอสฟีน มีอยู่ที่เดียวคือแล็บของเอกชน ดังนั้นจึงต้องส่งไปตรวจที่เดียวกันอยู่แล้ว

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลตรวจข้าวสาร 100 กว่าตัวอย่าง ยังไม่พบสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง ความชื้น หรือเชื้อราต่างๆ ส่วนข้าวสารที่มูลนิธิชีววิถีเพื่อผู้บริโภคและศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจพบว่ามีสารเมทิลโบรไมด์ ตกค้างสูงเกินมาตรฐานของโคเด็กซ์ 1 ตัวอย่างนั้น จะต้องหารือในเรื่องขั้นตอนการเก็บตัวอย่างตามมาตรฐานวิชาการให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยและให้ความมั่นใจแก่ประชาชน ได้สั่งอย.ให้ระงับการจำหน่าย และให้บริษัทเก็บคืนจากท้องตลาด และดำเนินการตรวจยืนยันซ้ำอีก โดยในวันพรุ่งนี้ (18 กรกฎาคม 2556) นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีสัญจรลงไปที่ภาคกลาง และจะมีการตรวจข้าวสัญจรในพื้นที่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา โดยจะตรวจครบวงจร ทั้งผู้ผลิต สถานที่เก็บ และที่จำหน่าย เพื่อให้เกิดความชัดเจน

สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน คือจะกวดขันบังคับใช้กฎหมายเร่งให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงทุกราย ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานจีเอ็มพีภายในปีนี้ และคาดว่า 1 มกราคม 2557 จะดำเนินการได้ทั้งหมด ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องสารเมทิลโบรไมด์ที่ใช้รมข้าวก่อนบรรจุถุง ซึ่งใช้ฆ่ามอดมา 20-30 กว่าปีแล้ว จะมีการยกเลิกใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งสาเหตุที่ยกเลิกมาจากสารนี้ไปทำลายบรรยากาศชั้นโอโซน ไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพ แต่คนที่ทำงานจะมีความเสี่ยงหากเข้าไปในห้องระหว่างกำลังอบข้าว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่า เกิดความเป็นมีพิษระยะเฉียบพลัน หรือมีพิษระยะยาวจะเป็นมะเร็ง จากข้าวสารที่มีสารรมควันตกค้าง ซึ่งกระบวนการหุงข้าวในปัจจุบัน ทำให้สารเหล่านี้หายไปไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ขั้นตอนล้างน้ำและซาวข้าว จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้