ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทย-กัมพูชาจัดทีมร่วมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามแนวชายแดน ไทยหนุนกัมพูชาทำระบบหลักประกันสุขภาพ

วันนี้ (22 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่ตนร่วมการหารือกับรัฐบาลกัมพูชาถึงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไทย-กัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น ที่ประชุมได้มีข้อตกลงความร่วมมือ 2 เรื่องที่มีความจำเป็น คือ 1.การดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน และ 2.การพัฒนาระบบการดูแลส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงทั้งการบาดเจ็บและเจ็บ ป่วยทั่วไป ในโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกัน 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยจัดให้มีโรงพยาบาลคู่แฝด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศว่าจะได้รับการดูแลต่อเนื่องและมาตรฐานเดียวกัน

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลชาวกัมพูชาที่เจ็บป่วยอื่นๆ และข้ามมาใช้บริการที่โรงพยาบาลในฝั่งไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยจะให้การดูแลด้วยหลักมนุษยธรรม และเรียกเก็บค่าบริการในรายที่สามารถจ่ายได้ ขณะที่ในระยะยาว ไทยเสนอให้กัมพูชาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้การดูแลประชาชน เข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยไทยจะให้การสนับสนุนทางวิชาการ ซึ่งกัมพูชาให้การตอบรับอย่างดี แต่การพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะรัฐบาลกัมพูชายังมีภาระค่าใช้จ่ายของประเทศสูง

ด้าน นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รับผิดชอบค่ารักษาฟรีแก่ผู้ป่วยชาวกัมพูชาประมาณปีละ 50 ล้านบาท เช่น ที่จ.ตราด จันทบุรี และสระแก้ว ในปี 2555 มีค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ ประมาณ 24 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผู้ป่วยชาวกัมพูชาที่มาใช้บริการสูงสุดเป็นโรคท้องร่วง ปอดบวม และอาหารเป็นพิษ ตามลำดับ สำหรับการส่งต่อผู้ป่วยนั้นจะมีการจับคู่ระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ เช่น รพ.สระแก้ว กับรพ.บันเตียเมียนเจย รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี คู่กับ รพ.พระตะบอง เป็นต้น ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อจัดทำคู่มือแนวทางความร่วมมือกันในเร็วๆนี้ และจะมีการศึกษาดูงานในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในปีนี้ ไทยมีแผนพัฒนาทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา ในเรื่องมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยเฉพาะทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน ระบบการดูแลที่ห้องอีอาร์ การควบคุมโรคตามแนวชายแดนโดยเฉพาะโรคมาลาเรียชนิดดื้อยาอาร์ติมิชินิน และการอบรมเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)คู่ขนานชายแดนไทย-กัมพูชา

ที่มา: http://www.dailynews.co.th