ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันการตรวจพบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสาร รวมทั้งการกล่าวว่าอาจมีสารเมทิลโบรไมด์ในโมเลกุลของข้าว

ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงอันตรายสารตกค้างถ้ามีปริมาณไม่เกินค่ากำหนดมาตรฐาน เนื่องจากสามารถพบสารนี้ในข้าวได้ตามธรรมชาติ ที่เป็นส่วนผสมของแร่ธาตุที่อยู่ในดิน ถ้าปริมาณที่ระบุว่าตรวจพบจากตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ ก็ไม่เป็นอันตราย ระบุรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพประชาชนเป็นอันดับแรก

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการตรวจข้าวสารบรรจุถุงที่พบสารสารเมธิล โบรไมด์ (Methyl Bromide) ที่ใช้ในการรมฆ่าแมลงตกค้างในข้าวสารบรรจุถุง ว่า ขณะนี้ประชาชนอาจมีความสับสนในข้อมูล 2-3 ประการ คือ1.การตรวจพบสารโบรไมด์ตกค้างในข้าว 2.พบสารโบรไมด์นี้ปนเข้าไปอยู่ในเนื้อข้าวสารหรือระดับโมเลกุลของข้าว และ3.สารโบรไมด์ตัวนี้อาจจะทำให้เกิดความเป็นพิษได้ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รายงานผลที่พบในข้าวสารครั้งนี้ เป็นขั้นตอนการตรวจตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงอันตรายของข้าว โดยการตรวจหาสารโบรไมด์มี 2 วิธี คือ การตรวจหลังรมควันภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณมาตรฐานตามที่โคเด็กกำหนดต้องไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (พีพีเอ็ม) และตรวจภายหลังรมควันเกิน 24 ชั่วโมง จะใช้วิธีการตรวจหาอิออนของสารโบรไมด์ในเนื้อข้าวสาร ซึ่งกำหนดต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ฉะนั้นในการรายงานผลการตรวจจึงต้องระบุเวลาการเก็บตัวอย่างให้ชัดเจนด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การตกค้างของสารโบรไมด์ในข้าวสารมีความเป็นไปได้ ซึ่งเกิดได้จากกระบวนการอบรมควันข้าว และมาจากการดูดซึมสารนี้ ที่เป็นส่วนผสมของแร่ธาตุอยู่ในดินตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในพืชอื่น ได้เช่นกัน เช่นกระหล่ำปลี พริกไทย เป็นต้น ซึ่งโคเด็กซ์ได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารโบรไมด์ที่อยู่ในพืชแต่ละชนิดไว้แตกต่างกัน สำหรับผลกระทบของสารเมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพนั้น องค์การอนามัยโลกยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มะเร็งได้ ในบางรายงานขององค์การอนามัยโลกยังพบว่า เมทิลโบรไมด์ในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย เช่นช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ หรือโรคอินซอมเนีย (Insomnia)

“จึงขอให้ประชาชนเข้าใจผลการตรวจสอบและกระบวนการเก็บตัวอย่างตรวจว่า เป็นไปตามขั้นตอน ผลการตรวจแม้จะพบสารโบรไมด์ก็ตาม แต่ค่าที่พบไม่เกินค่ามาตรฐานที่โคเด็กซ์กำหนด และข้อสรุปผลการตรวจที่ผ่านมาทั้งของรัฐและเอกชนได้ผลตรงกันคือ ไม่พบสารตกค้างอื่น เช่น อะฟลาทอกซิน ความชื้น สารฆ่าแมลงต่าง ๆ และขอย้ำจุดยืนรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ถึงแม้ว่าประเทศจะมีรายได้จากการขายข้าว เป็นรายได้ของชาวนา และความทุกข์ของชาวนาก็เป็นความทุกข์ของแผ่นดินก็ตาม” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ผลการตรวจเป็นที่น่าเชื่อถือ ลดความสับสนต่างๆ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เชิญภาคประชาชน ไม่จำกัดเฉพาะมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมาร่วมในกระบวนการเก็บตัวอย่างข้าวสารให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจะส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการซึ่งมีมาตรฐาน ส่วนสารตกค้างหรือสารปนเปื้อนบางตัว โดยเฉพาะสารเมทิลโบรไมด์ ที่ภาครัฐตรวจไม่ได้ ก็จะส่งตรวจที่ภาคเอกชน