ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในเร็วๆนี้  เพื่อแจ้งและปรึกษาข้อมูลความเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่าหนึ่งแสนคน

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ กำลังเตรียมเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในเร็วๆนี้ โดยมีเนื้อหาการปรึกษาหารือการคาดหวังให้กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ลงเอ็มโอยูร่วมมือกับ อปท. กระทรวงมหาดไทย ตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวนกว่า 5.3 แสนคนทั่วประเทศ โดยได้สิทธิทัดเทียมกับข้าราชการพลเรือนรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ไปแล้วและดำเนินเรื่องส่งเข้า ครม. อนุมัติรับรองในปีงบประมาณ 2557 ไปแล้วนั้น อยากให้ สปสช โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้นเรื่องนำกลุ่มบุคลากรทางการศึกษากลุ่มใหญ่กว่าแสนคนที่ขณะนี้มีสถานภาพเป็น พนักงานมหาวิทยาลัยเข้าระบบเดียวกันด้วย

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยพนักงานมหาวิทยาลัย โดยถูกตัดขาดจากการใช้สิทธิราชการเดิม และยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยได้เข้าไปใช้สิทธิประกันสังคม (ปกส) ไปก่อนล่วงหน้า ซึ่งงบประมาณ ปกส. รายหัวต่อรายเดือนตกประมาณ 750-1,400 บาทโดยรัฐสนับสนุนในหมวดงบแผ่นดินไปที่ทุกๆมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้ในกองทุนสุขภาพข้าราชการ ซึ่งเป็นสถานะเดิมก่อนมีระบบพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น รัฐต้องจ่ายปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ต่อข้าราชการ 5 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งค่าเฉลี่ยต่อหัวก็ประมาณ เดือนละ 1,200 บาท ดังนั้นหากโยก ปกส. ของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาใช้กองทุนเหมือน อปท. ก็คิดว่ามีช่องทางทำได้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่มี deadlock ในเรื่องนี้

ด้าน อ. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กำลังดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเด็นเรื่องสวัสดิการในการรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทั่วประเทศแล้ว โดยจะแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ในเร็วๆนี้เช่นกัน

ที่มา: http://www.thanonline.com