ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ : เลขาฯ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาพบ “พินิติ” ยื่นหนังสือสานต่อเรื่องสิทธิ์ สวัสดิการด้านกองทุนสุขภาพอุดมศึกษา ระบุก่อนหน้านี้ สนช.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ยังขาดเจ้าภาพในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.58 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ในฐานะ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) พร้อมตัวแทนประธานสภาข้าราชการและพนักงานจากหลายมหาวิทยาลัย เข้าพบ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ยื่นหนังสือหวัง สกอ. สานต่อสิทธิสวัสดิการด้านกองทุนสุขภาพอุดมศึกษา

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า การบริหารงานบุคลากรประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ในระบบประมาณแสนกว่าคน จากบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภททั้งหมดแสนสามหมื่นคนนั้น ทั้งหมดไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่หน่วยงานที่ดูแลพนักงานมหาวิทยาลัย กลับบังคับให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่ไม่ใช่ข้าราชการ เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน เพราะมีช่องว่างของกฎหมายที่ไม่ได้ห้ามไว้ แทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพให้ดีเหมือนระบบเดิม เหมือนรัฐวิสาหกิจ กลับไม่ทำ ซึ่งสิทธิรักษาพยาบาลที่ได้รับแย่กว่าระบบราชการเดิม และแย่กว่าระบบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ทางศูนย์ประสานงานฯ เคยเสนอโมเดลการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยให้บริหารจัดการโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รูปแบบเหมือนระบบข้าราชการเดิมทุกประการ และ สปสช. ก็ยินดีดำเนินการให้และใช้งบประมาณเท่าเดิมโยกจากกระเป๋าซ้ายไปหากระเป๋าขวา ซึ่ง สปสช. เคยทำระบบนี้สำเร็จมาแล้วกับ พนักงานของรัฐสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่รวมกองทุนหัวแตก ทุก อบต. ทั่วประเทศ มาทำกองทุนที่ใหญ่ ดี มีประสิทธิภาพ ทำให้สิทธิรักษาพยาบาลระบบจ่ายตรง ที่ สปสช. ดำเนินการให้ สร้างศักดิ์ศรีและเติมเติมชีวิตที่เป็นอยู่ดีขึ้นอย่างมาก พนักงาน อบต. ไม่ไหลออกจากระบบ ระบบจ่ายตรง คลุมบิดามารดาเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งทั่วประเทศ หากจะรวมกองทุน 80 มหาวิทยาลัยทั่งประเทศ โดยให้ สกอ. ช่วยผลักดัน ก็สามารถดำเนินการได้

เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวต่อว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย เริ่มไหลออกจากระบบ ส่วนใหญ่เป็นคนเรียนเก่ง เช่น อาจารย์แพทย์ศัลยกรรม เรียน 12 ปีจบผู้เชี่ยวชาญศัลยแพทย์ เมื่อมีประสบการณ์สูงระยะหนึ่ง ก็ลาออกไปอยู่เอกชน หรือบางคนที่ต้องการความมั่นคง ก็ลาออกก่อนอายุ 35 ปี เพื่อไปสอบรับราชการในโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนหนึ่งเพื่ออยากได้สิทธิ์รักษาพยาบาลที่ดีเหมือนระบบราชการเดิม และความมั่นคงในอาชีพ ทำให้โรงเรียนแพทย์เกิดปัญหาสมองไหล ขาดคนเก่งกระทบต่อสังคมวงกว้าง อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอาชีพที่สะสมประสบการณ์ การคัดเลือกคนมีการคัดกรองอย่างมาก ไม่สามารถจ้างแรงงานเด็กจบใหม่ใครก็ได้มาทดแทนทันที ความมั่นคงในชีวิตการงานลดลง ไม่มีอำนาจต่อรองทางกฎหมายแรงงาน ซึ่งสวนทางกับแนวทางอุดมศึกษาในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษได้บัญญัติกฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อขยายสิทธิและเสรีภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย (อาจารย์ รองศาสตราจารย์ จนถึง ศาสตราจารย์) ในฐานะที่เป็นลูกจ้างตามสัญญา ให้ได้รับความเท่าเทียมกันในระบบแรงงานสัมพันธ์และปราศจากการเลือกปฏิบัติจากนายจ้างหรือระบบการบังคับบัญชาภายในองค์กร สามารถตั้งสหภาพได้ แต่ในประเทศไทยทำไม่ได้

“ทางศูนย์ประสานงานฯ ใคร่ขอวิงวอนให้ ท่านเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้โปรดดำเนินการสานต่อ เพราะในอดีต ได้มีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันทุกฝ่ายมาจนได้ข้อสรุปเห็นชอบแล้วครั้งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกองทุนสุขภาพอุดมศึกษา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาของ สนช. ก็ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังขาดเจ้าภาพในการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว.

ที่มา : http://www.thairath.co.th