ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เมฆหมอก “เออีซี” เข้าปกคลุมทะมึนในทุกองคาพยพ ความสะพรึงกลัวก่อกำเนิดเป็นจินตนาการอันหลากหลาย

ระยะเวลาอีกไม่ถึง 2 ปีหลังจากนี้ แน่นอนว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือเออีซี

ข้อกังวลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างซ้ำซากนั่นก็คือ “การเคลื่อนย้ายเสรีแรงงาน” โดยเฉพาะ 8 วิชาชีพยอดนิยม ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร ช่างสำรวจ นักบัญชี สถาปนิก และผู้ปฏิบัติอาชีพในด้านการท่องเที่ยว

สำหรับแวดวงสาธารณสุข ข้อกังวลข้างต้นแบ่งออกเป็น 2 ทิศทาง ด้านหนึ่งคือบุคลากรทางการแพทย์จะไหลออกไปอยู่ในประเทศที่ภาระงานน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก อีกด้านหนึ่งคือบุคลากรจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาแย่งงานบุคลากรชาวไทย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการล้อมคอกปัญหานั้นเอาไว้แล้ว นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ยืนยันว่า วงการแพทย์จะไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากแพทย์ที่จะทำการรักษาได้นั้นต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งออกโดยแพทยสภาและข้อสอบเป็นภาษาไทย

สอดคล้องกับ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความเชื่อมั่นว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีไปมาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการกำหนดคุณลักษณะของแต่ละอาชีพด้วย นั่นหมายความว่าแต่ละอาชีพมีการกำหนดคุณสมบัติของตัวเองไว้ โดยเฉพาะแพทย์จำเป็นต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาไทย ดังนั้นปัญหาแรงงานไหลเข้ามาในประเทศจึงเกิดขึ้นได้ยาก

เห็นได้ว่าแนวทางการล้อมคอกป้องกัน “แพทย์ต่างชาติ” ไหลเข้ามาในประเทศไทย คือการตั้งเงื่อนไขทางภาษาเป็น “กำแพง” ขวางกั้นเพียงอย่างเดียว

ที่สำคัญ “กำแพง” เหล่านั้น กำลังถูกทำลายลงด้วยแนวคิดของ นพ.ประดิษฐ สินธวรณรงค์ รมว.สาธารณสุข

นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิก 88 โรงพยาบาล ให้ภาพว่า เมื่อเข้าสู่เออีซีในปี 2558 แน่นอนว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จากเดิมประเทศไทยมีเพียง 60 ล้านคน ก็จะเพิ่มประชากรประเทศสมาชิกอีกเป็น 600 ล้านคน นั่นหมายความว่าปริมาณผู้ใช้บริการทางการแพทย์จะมากขึ้นอีก 10 เท่า

ความเป็นจริงคือส่วนหนึ่งก็ยังคงรักษาอยู่ในประเทศของเขา แต่ในอีกหลายประเทศที่การแพทย์ยังไม่พัฒนา ประกอบกับประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เรียกว่าเป็น Gate way ดังนั้นในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดการขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก

“ประเทศไทยเราเองก็เตรียมตัวช้าเกินไป ไม่มีการผลิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยาบาล ไว้รองรับการให้บริการ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการแย่งตัวบุคลากร ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันแพทย์ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เมื่อเปิดเสรีปัญหานี้ก็จะทวีความรุนแรงขึ้น” นพ.กำพลอธิบายสถานการณ์

อย่างไรก็ดี โชคดีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มีความเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันท่วงที และป้องกันการขาดแคลนที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นแน่ เราควรจะผ่อนคลายในเรื่องการสอบใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ต่างชาติ

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีนโยบายว่าแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้สอบข้อสอบภาษาไทย ถามว่าใครจะเรียนภาษาไทย การแพทย์ก็เรียนด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว รัฐมนตรีเห็นว่าควรจะมีความเป็นธรรมมากขึ้นจึงเห็นควรให้สอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาอังกฤษ ในที่นี้รวมไปถึงทุกสาขาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา บอกว่า ไม่ห่วงเรื่องแพทย์ขาดแคลน เนื่องจากหากเทียบอัตราการผลิตกับความต้องการแล้ว มั่นใจว่าอีก 10 ข้างหน้า แพทย์จะมีมากจนล้นตลาด แต่สิ่งที่กังวลคือพยาบาลขาดแคลน เนื่องจากผลิตเท่าไรก็ไม่พอ ปัจจุบันเริ่มมีการนำเข้าพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้วแต่ติดปัญหาอยู่ที่ต้องสอบเป็นภาษาไทย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้แพทยสภาอยู่ระหว่างการศึกษาระเบียบและแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ แก้ไขระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราว สำหรับแพทย์ต่างชาติ การเปิดให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางการแพทย์

“ใบอนุญาตชั่วคราวไม่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นอีกแนวคิดช่วยแบ่งเบาภาระของหมอไทยในอนาคตที่จะมีต่างชาติเข้ามามาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ทำให้หมอไทยดูแลคนไทยได้เต็มที่” นายกแพทยสภา กล่าว

คำถามคือหากทำลาย “กำแพง” ทางภาษาแล้ว จะมีผลเสียอะไรตามมาหรือไม่

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ชมรมแพทย์ชนบท มองว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาหากไม่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาไทยได้ นั่นหมายความว่าไม่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทย แน่นอนว่าแพทย์เหล่านั้นย่อมเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าแพทย์ในประเทศไทยไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน แต่ละปีมีการผลิตเพียงพอต่อความต้องการ แต่หากมีการทำลายกำแพงทางภาษาในวิชาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะพยาบาล ก็จะทำให้พยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ไหลเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก ปัญหาแรกที่จะเกิดขึ้นคือพยาบาลไทยถูกแย่งงานทำ

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า นโยบายนี้จะไม่เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพกับคนไทย แต่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่จะทำรายได้เข้าสู่ประเทศ ว่ากันอย่างเป็นธรรมคือเป็นนโยบายที่ไม่ได้สร้างผลกระทบกับโรงพยาบาลรัฐและประชาชนชาวไทยเท่าใด หากจะเกิดก็เป็นเรื่องของการผลักดันให้การแพทย์มีความเหลื่อมล้ำ เกิดช่องว่าง กลายเป็นบริการทางการแพทย์ 2 มาตรฐาน ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทไม่อยากให้เกิดขึ้น