ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงที่หมู่บ้านประสบภัยที่อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ สรุปยอดพบผู้ป่วย 46 ราย ร้อยละ 80 เป็นเด็ก  แพทย์รับตัวนอนโรงพยาบาล 5 ราย ที่โรงพยาบาลศรีมโหสถ และโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ ขณะนี้ทุกรายปลอดภัย และไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ขอความร่วมมือผู้ปรุงอาหาร เน้นความสะอาด ปรุงสุกด้วยความร้อน และควรบริโภคอาหารบริจาคภายใน2-4 ชั่วโมง ส่วนรพ.ประจันตคาม ระดับน้ำท่วมลดลง ยังคงงดรับผู้ป่วยในชั่วคราว แต่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกตามปกติ

วันนี้ ( 3 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมและมีประชาชนที่หมู่2 4 5 9และ10 ต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เกิดอาการอาหารเป็นพิษ หลังรับประทานข้าวกล่องบริจาคเมื่อวานนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงควบควบคุมป้องกันโรคในหมู่บ้าน มีผู้ป่วยทั้งหมด 46 ราย ร้อยละ 80 เป็นเด็กที่เหลือเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 5 ราย ที่โรงพยาบาลศรีมโหสถ 2 ราย และโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ 3 ราย ทุกรายปลอดภัย ที่เหลือกลับบ้าน ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ เก็บตัวอย่างอาหารและตัวอย่างอาเจียน ทำการฆ่าเชื้อห้องน้ำห้องส้วม ส่งตรวจตัวอย่างอาหาร และอาเจียนผู้ป่วย ทางห้องปฏิบัติการรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ คาดจะทราบผลใน 1-2 วันนี้

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า โรคติดเชื้อทางอาหารและน้ำ เช่นโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ เป็น 1 ใน 9โรคที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังควบคุมป้องกันเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกแห่ง โดยเน้นเรื่องความสะอาดอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ ความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม การควบคุมมาตรฐานคลอรีนตกค้างในน้ำประปาในพื้นที่ประสบภัย อย่างต่อเนื่อง ต้องขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่จะบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัย ขอให้เลือกอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูแดดเดียว เมนูไข่ต้ม หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากกะทิ เนื่องจากจะเสียง่าย ส่วนผู้ประสบภัย ขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และบริโภคอาหารบริจาคภายใน 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ หากมีกลิ่นสีผิดปกติ ไม่ควรบริโภค โดยหากพื้นที่ใดมีรายงานผู้ป่วย ให้ส่งทีมลงสอบสวนเพ่อควบคุมโรคทันที

ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานวอร์รูมน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลบริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆ วันละประมาณ 50 ทีม ยอดสะสมรวม 951 ครั้ง พบผู้ป่วย 40,834 ราย ร้อยละ 40 เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มเสี่ยงใน 33 จังหวัด ตรวจทั้งหมด 3,813 คน พบมีความเครียด นอนไม่หลับ 360 ราย ในจำนวนนี้เครียดในระดับสูง และต้องดูแลใกล้ชิด 24 ราย

สำหรับที่รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี วันนี้ระดับน้ำลดลง ยังคงให้บริการเฉพาะแผนกผู้ป่วยนอก วันนี้มีผู้รับบริการ 60 ราย งดรับผู้ป่วยในชั่วคราว เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ และไม่มีผู้ป่วยนอนรักษาแล้ว ส่วนที่โรงพยาบาลบ้านสร้าง ขณะนี้ได้วางระบบการป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว และให้ติดตามสถานการณ์วันต่อวัน ในภาพรวมมีสถานพยาบาลถูกน้ำท่วมรวม 71 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มากที่สุดคือจ.พระนครศรีอยุธยา 15 แห่ง จ.ปราจีนบุรี 13 แห่ง ทั้งหมดให้บริการประชาชนได้