ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ  ดำเนินการสำรวจ ข้อมูลด้านอนามัยและสวัสดิการครั้งแรกในปี 2517 และครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 18  โดยเก็บข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 27,960 ครัวเรือน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักประกันด้านสุขภาพ การเจ็บป่วย การไปรับบริการสาธารณสุข และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

1. สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล

จากผลการสำรวจ พบว่า ประชากรได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ จากร้อยละ 96.0 ในปี 2549  เป็นร้อยละ 98.3 ในปี 2556  โดยประเภทสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับสูงสุด คือ บัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ร้อยละ 74.4 รองลงมา คือ บัตรประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทนและสวัสดิการข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.4 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ  สำหรับการประกันสุขภาพกับบริษัทประกันจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.3 เท่าจากร้อยละ 2.3 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 5.3 ในปี 2556

2. สถานการณ์ด้านสุขภาพ

2.1 การเจ็บป่วยและการส่งเสริมสุขภาพ

ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์

ในปี 2556 เมื่อสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่า มีผู้ป่วยที่ ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลทั้งสิ้น 19.3 ล้านคน (ร้อยละ 29.1 ของประชากร) เป็นชาย 8.5 ล้านคน และหญิง 10.8 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย 13.9 ล้านคน (ร้อยละ 21.0)  เป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว 11.5 ล้านคน (ร้อยละ 17.4) และเป็น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ/ถูกทำร้าย 1.6 ล้านคน (ร้อยละ 2.4) โดยผู้หญิงมีสัดส่วนของอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย และโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวสูงกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ผู้ชายมีสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุ/ถูกทำร้ายสูงกว่าหญิงเล็กน้อย

ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีผู้ไปรับบริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การไปรับการฉีดวัคซีน การวางแผนครอบครัว การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น ประมาณ 1.8 ล้านคน (ร้อยละ 2.8)  ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าผู้หญิงไปใช้บริการสูงกว่าผู้ชาย

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มวัย 0-5 ปี  มีอัตราการเจ็บป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ ร้อยละ 30.5 และอัตราการเจ็บป่วยจะลดลงตามกลุ่มอายุที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงกลุ่มวัย 15-24 ปี  แล้วอัตราการเจ็บป่วยจะกลับไปเพิ่มขึ้นตามกลุ่มวัย  โดยในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีอัตราการเจ็บป่วยสูงสุด (ร้อยละ 64.9)

ส่วนการรับบริการส่งเสริมสุขภาพ พบว่าในกลุ่มอายุ 0-5 ปี จะมีอัตราการรับบริการส่งเสริมฯ สูงสุด (ร้อยละ 6.6)  สำหรับกลุ่มอายุ 6-14 ปีจะมีอัตราการรับบริการส่งเสริมฯ ต่ำสุด (ร้อยละ 1.0)  และอัตราการรับบริการส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จะแปรผันตามกลุ่มอายุที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาฯ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2549  เป็นร้อยละ 29.3 ในปี 2554 และลดลงเล็กน้อยในปี 2556 (ร้อยละ 29.1)  และเมื่อพิจารณาตามลักษณะของการเจ็บป่วย พบว่า ผู้ที่ป่วยเพราะมีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย  และป่วยเพราะมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.3  และร้อยละ 15.6 ในปี 2549 เป็น ร้อยละ 21.0  และร้อยละ 17.4 ในปี 2556 ตามลำดับ แต่ผู้ที่เจ็บป่วยเพราะได้รับอุบัติเหตุ/ถูกทำร้ายมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากปี 2552 คือ จากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2556

สำหรับแนวโน้มของผู้รับบริการส่งเสริมสุขภาพในช่วงปี 2554 - 2556 พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 2.8

2.2  การเจ็บป่วยและการรับบริการทันตกรรม

ในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์

ในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์มี ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลจำนวน 3.3 ล้านคน (ร้อยละ 5.0)  สำหรับผู้ไปรับบริการทันตกรรม เช่น การขูดหินปูน  การตรวจรักษาสุขภาพในช่องปาก การอุดฟัน เป็นต้น พบว่ามีผู้ไปรับบริการฯ 6.3 ล้านคน ร้อยละ 9.5) ซึ่งมีข้อสังเกตว่าทั้ง 2 กรณี สัดส่วนของหญิงจะมากกว่าชาย

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลมากที่สุด (ร้อยละ 9.2)  และในกลุ่มอายุ 6-14 ปี มีอัตราการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาฯต่ำสุด(ร้อยละ 3.0)  สำหรับอัตราการรับบริการทันตกรรม พบว่าผู้ที่มีอายุ 6-14 ปี ไปรับบริการทันตกรรมสูงสุด (ร้อยละ 13.5) ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ ไม่ต่างกันมากนัก ยกเว้นในกลุ่มอายุ 0-5 ปี ซึ่งมีอัตราการรับบริการ       ทันตกรรมต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 4.0)

เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์มีผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลในสัดส่วนที่ลดลง (ร้อยละ 6.4 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 5.0 ในปี 2556) สำหรับผู้รับบริการทันตกรรม พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คือจากร้อยละ 7.4 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 9.5 ในปี 2556

3. สถานที่ในการรับบริการสาธารณสุขครั้งสุดท้าย

3.1 การเจ็บป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพ

ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์

จากจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ทั้งสิ้น 19.3 ล้านคนนั้น พบว่ามีผู้ป่วยที่ไม่มีการรักษาร้อยละ 11.9 และเป็นผู้ป่วยที่มีการรักษาร้อยละ 71.8 นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวที่ไม่มีการรับบริการทางการแพทย์ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษา หรือกำลังรักษาแต่ยังไม่ถึงเวลาที่แพทย์นัดตรวจอีกร้อยละ 16.3

ในส่วนของผู้ที่มีการรักษาฯ (ร้อยละ 71.8) พบว่าไปสถานพยาบาลของรัฐสูงสุด (ร้อยละ 41.4)  รองลงมาคือ ซื้อ/หายากินเอง และไปรับการรักษา พยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชน (ร้อยละ 17.6 และ 12.3 ตามลำดับ)  ส่วนที่เหลือร้อยละ 0.5 เป็นการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ไปหาหมอพื้นบ้าน/หมอแผนโบราณ/หมอนวดแผนไทย มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาให้บริการ เป็นต้น

สำหรับการรับบริการส่งเสริมสุขภาพในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่ามีผู้ไปรับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐ มากกว่าไปรับบริการจากสถานพยาบาลของเอกชนและที่อื่นๆ ประมาณ 4 เท่า (ร้อยละ 79.0 ร้อยละ 13.8 และร้อยละ 7.2 ตามลำดับ)

3.2 การเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และการรับบริการทันตกรรม

ในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์

สำหรับการรับบริการสาธารณสุขในด้าน การเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาฯ และด้านทันตกรรม  ในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่าผู้ไปรับบริการมีพฤติกรรมในการรับบริการในลักษณะเดียวกัน คือ ส่วนใหญ่รับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐ (ร้อยละ 84.6 และ 50.4 ตามลำดับ) รองลงมา คือ รับบริการจากสถานพยาบาลของเอกชนและที่อื่นๆ  แต่เป็นที่สังเกตว่าในการไปรับบริการทันตกรรม จะมีสัดส่วนของผู้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลของเอกชนค่อนข้างสูง (ร้อยละ 44.5)  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งยังไม่สะดวกในการใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐฯ

4.  ค่ารักษาพยาบาลและค่ารับบริการ

ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และผู้ที่รับบริการส่งเสริมสุขภาพส่วนใหญ่ได้รับการบริการโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 56.2 และ 77.3 ตามลำดับ) โดยในปี 2556 มีทิศทางที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายลดลงซึ่งอาจจะผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนจากรักษาฟรีมาเป็นหลักประกันสุขภาพ 30 บาท

ในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และผู้รับบริการ ทันตกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน โดยในปี 2556 ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และผู้รับบริการทันตกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายมีร้อยละ 69.7 และ 45.7 ตามลำดับ โดยเป็น ที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ไปรับบริการทันตกรรมเกินครึ่งมีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสัดส่วนการใช้บริการในสถานพยาบาลเอกชนค่อนข้างสูง

5. การเจ็บป่วยกับสุขภาพจิต

ในปี 2556 เมื่อพิจารณาคะแนนสุขภาพจิตของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปกับการเจ็บป่วย พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาฯ และผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาฯ จะมีคะแนนสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่ไม่เจ็บป่วย และเมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่าคะแนนสุขภาพจิตของผู้ที่ป่วยและผู้ที่ไม่ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ