ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขทุ่มงบประมาณปีละ 16,500 ล้านบาท เร่งแผนบรรจุ 'พกส.'ร้อยละ 80 ของลูกจ้างชั่วคราว 140,000 คน เผย'กรมสุขภาพจิต- กรมการแพทย์'เริ่มแล้วมีผลย้อนหลัง 1 ตุลาคม

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นประธาน มีตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนตัวแทนลูกจ้างชั่วคราว เข้าร่วม ที่ประชุมเห็นชอบการอนุมัติจัดทำกรอบอัตรากำลังคนในส่วนลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 140,000 คน โดยให้บรรจุเป็น พกส.ได้ร้อยละ 80 ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งเป็นการคิดตามกรอบภาระงาน ฐานประชากร และการพัฒนาหน่วยงาน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 ยังให้เป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารกำลังคน อย่างไรก็ตาม ในกรณี ที่บางหน่วยงานมีความจำเป็นต้องบรรจุเกินกรอบ ร้อยละ 80 ยังสามารถขออนุมัติจากคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพได้

นพ.วชิระกล่าวว่า ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณให้ขยายวงเงินการจ้างได้ร้อยละ 10 จากเดิมภาพรวม การจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อปรับเป็น พกส.จะต้องใช้เงินงบประมาณราว 16,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาทนั้น จะนำมาจากเงินส่วนต่างของการบรรจุข้าราชการเพิ่มอีก 7,500 ตำแหน่ง โดยข้าราชการกลุ่มนี้จะรับเงินเดือนจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แทน ทำให้เหลือเงินเข้ามาอีก 1,300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีก 200 ล้านบาท จะนำมาจากการประหยัดจากการ บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพแทน ทั้งนี้เบื้องต้น ผู้บริหาร สธ.ได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังการจ้างให้ สถานพยาบาลที่สังกัดกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิตแล้ว เนื่องจากจัดทำข้อมูลเรียบร้อยก่อนหน่วยงานอื่น สามารถดำเนินการบรรจุและสั่งจ้างได้ทันที และมีผลย้อนหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2556 สำหรับหน่วยงาน อื่นๆ จะทยอยดำเนินการเมื่อมีความพร้อมต่อไป

"เงินค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการจ้าง จะได้รับไม่น้อยกว่าเดิมที่เคยได้หรือได้รับมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นไปตามจำนวนลูกจ้าง หากมีจำนวนมาก วงเงินค่าจ้างจะเพิ่มในสัดส่วนที่น้อย แต่ไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน สิ่งที่ลูกจ้างชั่วคราวจะได้มากกว่าเดิมคือ เรื่องของสวัสดิการ ทั้งเรื่องความมั่นคงมีการต่อสัญญาจ้าง ทุก 4 ปี สามารถขอย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานได้ สามารถขอลาศึกษาต่อได้ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วน ลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านการประเมินแต่ยังบรรจุไม่ได้ จะให้ทำสัญญาจ้างรายปี โดยระบุว่าให้ได้รับเงินเดือน โดยใช้เงินบำรุงและวงเงินไม่น้อยกว่าเดิมเช่นกัน" รองปลัด สธ.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556