ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก -อย.เสนอสร้าง "เครือข่ายขนมปลอดภัย" ใช้ อสม. 1 ล้านคน ระดม นร.เฝ้าระวังโชห่วยหมู่บ้านขายขนมพิษอันตราย

หลังจาก "คม ชัด ลึก" รายงานข่าวเกี่ยวกับขนมปังอมตะ ที่เก็บไว้นานกว่า 60 วันยังไม่เสียหรือขึ้นรา รวมถึงขนมหลอกเด็ก 5 กลุ่มที่วางขายเกลื่อนโดยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานองค์การอาหารและยานั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดสรรงบประมาณรวม 37 ล้านบาท เพื่อสร้างความปลอดภัยเรื่องอาหารบริโภคทุกชนิดทั่วประเทศ ขณะที่ อย.เสนอให้ชุมชนร่วมสร้าง "เครือข่ายขนมปลอดภัย" อย่างเร่งด่วน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป จะมีการจัดทำโครงการตรวจสอบอาหารปลอดภัยทุกจังหวัด เพื่อควบคุมการขายขนมและอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานและที่ไม่มีเลข อย. เน้นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเลือกซื้อและกินอาหารปลอดภัยเท่านั้น โดยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับเรื่องนี้รวม 37 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ให้มีรถโมบายเคลื่อนที่ไปตรวจคุณภาพอาหารตามโรงเรียนต่างๆ ส่วนสารอันตรายที่จะเน้นตรวจเป็นพิเศษ คือสารเคมีพิษที่พบปนเปื้อนในอาหารบ่อยๆ มี 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ สารกันรา ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาวและยากำจัดศัตรูพืช ยิ่งไปกว่านั้นจะให้มีการตรวจอาหารและขนมที่เด็กๆ ชอบกินด้วย โดยเฉพาะที่นิยมวางขายตามหน้าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศไทย

"สำหรับกลุ่มขนมที่จะเน้นตรวจสอบเป็นพิเศษคือ ขนมใส่สี เช่น เยลลี่ ลูกชุบ น้ำหวาน วุ้น ฯลฯ หากพบว่าเป็นขนมไม่ปลอดภัยจะสืบหาต้นตอแหล่งผลิตด้วย สำหรับแผนการปฏิบัติการจัดระเบียบอาหารและขนมนั้น จะเชิญตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมหารือด้วยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขนมเถื่อนหรือขนมพิษที่ใส่สารกันบูดหรือสีอันตราย ที่มีวางขายทั่วไปในร้านโชห่วยตามหมู่บ้านว่า ควรสร้าง "เครือข่ายขนมปลอดภัย" ในทุกพื้นที่ โดยให้ชุมชน โรงเรียน และร้านค้า เข้ามาร่วมกันทำงาน มีการเปิดช่องทางให้แจ้งเบาะแสว่ามีขนมอันตรายขายที่ใดบ้าง และให้ความรู้ว่าขนมอันตรายเป็นอย่างไร โดยให้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่อนามัยและตัวแทนนักเรียน หรือ "อย.น้อย"

"ปัญหาคือ ตอนนี้ผู้ใหญ่ไม่คิดว่าขนมพวกนี้อันตราย ต้องสร้างเครือข่ายขนมปลอดภัยเพื่อกระตุ้นให้เห็นปัญหาว่า เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ กินเข้าไปแล้วจะเป็นพิษร้ายสะสมในร่างกายนะ การทำงานรณรงค์ต้องเน้นให้ชุมชนช่วยกัน แต่ละพื้นที่คิดโมเดลของตัวเองขึ้นมา เพราะแต่ละหมู่บ้านปัญหาไม่เหมือนกัน คนในท้องถิ่นรู้ดีที่สุด เช่น ร้านไหนขายขนมอะไรบ้าง ซื้อมาจากที่ใด วิธีนี้ดีกว่าให้เจ้าหน้าที่ไปไล่ตรวจจับ เมื่อชุมชนช่วยกดดัน ร้านก็จะไม่กล้าสั่งมาขายเด็ก และต้องให้นักเรียนเข้าร่วมด้วย ที่ผ่านมามีการสร้าง อย.น้อยไว้แล้ว เด็กกลุ่มนี้มีความรู้เรื่องอาหารและขนมปลอดภัยอยู่แล้ว น่าจะช่วยผู้ปกครองและชาวบ้านได้อย่างดี" ภก.ประพนธ์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556