ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - ดร.นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะช่วงระยะ เวลาระหว่างอาหารเย็นถึงเช้า แม้จะเป็นช่วงที่นอนหลับ แต่ร่างกายก็ยังเผาผลาญสารอาหารตามปกติ หากเด็กไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิในการเรียนอาจถึงขั้นหน้ามืด เป็นลม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาจต้องพักการเรียนได้ เนื่องจากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้าของวัยเรียนพบว่า เด็กวัยเรียนอายุ 6-11 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะนักเรียนหญิง อายุ 12-14 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52

"ทั้งนี้ ตามหลักโภชนาการที่ถูกต้องควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งถือเป็นมื้อที่สำคัญมาก หากไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าเองก็ควรจะเพิ่มเวลาสัก 10-20 นาที เพื่อออกไปเลือกเมนูอาหารเช้าที่เหมาะสมนอกบ้าน เพราะทุกวัยโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการพลังงาน สารอาหาร ที่ครบถ้วน และหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกาย ควรหลีกเลี่ยง น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมขบเขี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทย พร้อมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้สมองสามารถเรียนรู้ จดจำ มีสมาธิ พร้อมเริ่มวันใหม่ ตลอดจนทำกิจกรรมการเรียนรู้กันเพื่อนได้อย่างดี ควบคู่กับสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย"

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556