ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 56 พบ มีผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 13,022 ราย และเสียชีวิต 9 รายจาก 75 จังหวัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรร้อยละ 41 รองลงมาคือ นักเรียนร้อยละ 23 และรับจ้างร้อยละ 17  ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี ภาคที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือภาคใต้ 3,940 ราย ภาคเหนือ 1,634 ราย ภาคกลาง 1,076 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 730 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยะลา ระนอง ตาก แม่ฮ่องสอนและชุมพร ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยคือ สิงห์บุรี และแพร่

ล่าสุดมีรายงานโรคมาลาเรียเกิดขึ้นที่จังหวัดพัทลุง โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุง เดินทาง ไปเยี่ยมญาติและค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียที่จังหวัดสตูล หลังกลับภูมิลำเนา 14 วัน เริ่มมีอาการป่วยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 โรงพยาบาลพัทลุงได้เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจพบเชื้อไข้มาลาเรีย จากการค้นหา ผู้ป่วยโดยการเจาะเลือด จนถึงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา พบมีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง รวมทั้งหมดเป็น 13 ราย โดยพบว่า การระบาดของโรคครั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยมารับการตรวจหาเชื้อมาลาเรียช้า เพราะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไม่มีรายงานโรคไข้มาลาเรีย มานานแล้ว

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าหลังจากมีรายงานพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กรมควบคุมโรคได้สั่งการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโรคในทันที โดยการติดตามสอบสวนโรค เจาะเลือดรอบบ้านผู้ป่วย เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อมาลาเรีย และให้การรักษาเมื่อพบเชื้อ รวมทั้งพ่นเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้างตามฝาบ้าน เพื่อลดจำนวนยุงพาหะซึ่งพ่นได้ครอบคลุมร้อยละ 100 ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยและรอบบ้านผู้ป่วย การออกหน่วยมาลาเรียคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน แจกมุ้งชุบสารเคมีสำหรับป้องกันยุงจำนวน 500 หลังพร้อมทั้งได้กำชับให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ และดำเนินการควบคุมโรคอย่างเต็มที่  ขณะนี้สามารถควบคุมการระบาดของโรคและไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม

"พร้อมเตือนประชาชนผู้ที่อาศัยหรือผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำลำธารต้องระวังอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด นอนในมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง ทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวสีอ่อนๆ หลังกลับจากกรีดยางหรือทำงานในป่า หากมีอาการหนาวสั่น  มีไข้  ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาเจียน เบื่ออาหาร หรือปวดศีรษะมาก ฯลฯ  ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่า เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องโดยการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย และได้รับการรักษาที่รวดเร็ว หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422"  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว