ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พิมพ์ไทย - เวทีประกันสังคมโลกห่วงจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มแรงงานข้ามชาติในแต่ละประเทศพุ่ง แนะแต่ละประเทศพัฒนาระบบประกันสังคมรองรับ และขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกคน พร้อมตั้งศูนย์ให้คำแนะนำที่สมาคมประกันสังคมระหว่างประเทศ

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้เป็นตัวแทน สปส.ไปเข้าร่วมประชุมประกันสังคมระหว่างประเทศครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-15 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยมีผู้แทนกว่า 150 ประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศจะต้องปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินขึ้นในหลายประเทศ และปัจจุบันโครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไป มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่เด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้มีแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง และมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นว่า ระบบประกันสังคมของประเทศต่างๆ จะต้องขยายความคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกคน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อให้มีความมั่นคงในการทำงานและดำเนินชีวิต และจะต้องบริหารจัดการระบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตเช่น สิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ จึงต้องปรับระบบการบริหารจัดการประกันสังคมให้มีความหลากหลาย โดยให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนเพื่อให้ระบบประกันสังคมมีความเข้มแข็งและครอบคลุมสู่ประชาชนทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำการพัฒนาการบริหารระบบประกันสังคมโดยให้ตั้งอยู่ที่สมาคมประกันสังคมระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และจัดทำคู่มือแนะนำเผยแพร่ให้แก่ประเทศต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำการจัดทำระบบประกันสังคมเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2557

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวต่อไปว่า ผลประชุมดังกล่าวสอดรับกับแนวทางการดำเนินการการพัฒนาระบบประกันสังคมของ สปส.ซึ่ง สปส.เตรียมเสนอให้รัฐบาลและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพซึ่งมีอายุ60 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป จะช่วยให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

"สปส.กำลังศึกษาแนวทางปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเบื้องต้นเห็นว่า กรณีชราภาพ หรือกรณีว่างงานควรจัดเก็บเงินสมทบเช่นเดิม แต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง 4 ปี แรงงานข้ามชาติต้องกลับประเทศ สปส.ก็จะจ่ายเป็นเงินก้อนในลักษณะเป็นเงินบำเหน็จ และเงินสะสมกรณีว่างงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปคาดว่าปีหน้าจะสรุปแนวทางได้และเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ต่อไป"นายอารักษ์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย  วันที่ 4 ธันวาคม 2556