ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุขของผู้ป่วย ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญมาโดยตลอด ลองมาดูสิว่าในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสมัย “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทำงานลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นเช่นใด

เรื่องนี้มีการพูดกันมากในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีบางกลุ่มมองว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทีเห็นชัดคือ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินสามกองทุน รักษาโดยไม่ถามสิทธิ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แม้จะมีปัญหาในแง่การปฏิบัติ เพราะยังมีเรื่องโรงพยาบาลเอกชนยังไม่ยอมรับเคส มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อน ทั้งๆที่นโยบายนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการสำรองจ่ายเงินให้แก่กองทุนไปก่อน และค่อยไปเบิกจ่าย เรียกหน้าที่นี้ว่า เคลียริ่งเฮ้าส์

ประเด็นคือ หากมองความสำเร็จ นโยบายนี้ถือว่าสำเร็จ แต่จุดเริ่มจริงๆ อยู่ในสมัยของ “นายวิทยา บุรณศิริ” เป็นรัฐมนตรีสธ. แต่ในสมัยของ นพ.ประดิษฐ ถือเป็นช่วงปฏิบัติ แต่ที่ถูกจับจ้องคือ เมื่อเกิดปัญหาในทางปฏิบัติอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น กลับไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จนกระทั่งเกิดปัญหายุบสภา ก็ยังไม่จบสิ้น แม้ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)  เสนอแนวทางแก้ปัญหาในการประชุมบอร์ด สปสช. 
โดยเสนอการแก้ปัญหากรณีการจ่ายชดเชยเงินกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โรงพยาบาลเอกชน ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินในระดับความรุนแรงละ 10,500 บาท หรือที่เรียกว่าการจ่ายชดเชยแบบ RW โดยรพ.เอกชนไม่ยอมรับ รวมไปถึงคำนิยามฉุกเฉินที่ถูกพูดเสมอ ก็ล้วนเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องควักเงินจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเอกชนเอง เรื่องนี้ บอร์ด สปสช.จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขออกข้อบังคับใหโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบายช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด ลดปัญหาการเรียกเก็บเงิน และให้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงโอกาสในการออกประกาศให้บริการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินวิกฤตเป็นสินค้าราคาควบคุม แต่แล้วก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ในสมัย “นพ.ประดิษฐ” อยู่ดี เพราะข้อเสนอดังกล่าวต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ เนื่องจากต้องร่วมกันทำหลายหน่วยงาน จึงต้องรอรัฐบาลใหม่

เรื่องนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “นพ.วินัย สวัสดิวร” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงนโยบายลดความเหลื่อมล้ำสามกองทุนาสุขภาพภาครัฐ ว่า โดยหลักถือเป็นนโยบายที่ดีเพราะช่วยเหลือชีวิตคนได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ปัญหาเรื่องการเรียกเก็บเงินผู้ป่วย เพราะคำนิยามไม่ตรงกัน หรือเพราะอัตราการจ่ายชดเชยนั้น   ได้มีการหารือว่าจะต้องปรับอัตราการเบิกจ่ายใหม่ โดยในปี 2557 จะต้องปรับระบบการจ่ายแบบใหม่เป็น Fee schedule หรือระบบการจ่ายเงินตามการสั่งการบริการ หรือเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกันในการออกเป็นกฎระเบียบและเงื่อนไขการจ่ายตามกลุ่มโรคที่รักษา ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก แต่เป็นธรรม และได้รับการยอมรับมากที่สุดแล้ว  ส่วนเรื่องอื่นๆก็ขอให้รอตามขั้นตอนต่อไป

ไม่เพียงแต่เรื่องดังกล่าว นโยบายลดความเหลื่อมล้ำยังมีเรื่องการบูรณาการผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ และผู้ป่วยโรคไต โดยได้ดำเนินการในแง่เกณฑ์มาตรฐานในการให้บริการแต่ละกองทุน อย่างกรณีการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีนั้น ได้มีข้อตกลงให้สามกองทุนต้องให้ยาในสูตรยาเหมือนกัน กล่าวคือ หากป่วยในระยะแรกก็ต้องให้ยาพื้นฐานเหมือนกัน เป็นต้น หรือกรณีผู้ป่วยย้ายสิทธิในกองทุนสุขภาพภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเอชไอวีหรือผู้ป่วยไต หากเดิมทีอยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่ย้ายมาอยู่ในสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะยังคงได้รับสิทธิการรักษาเหมือนเดิม เช่น ผู้ป่วยไตสิทธิประกันสังคมได้รับการฟอกเลือด เมื่อย้ายสิทธิมาอยู่ในสิทธิ 30  บาทรักษาทุกโรคก็จะได้รับการฟอกเลือดเหมือนเดิม ไม่มีการลดสิทธิรักษาพยาบาลแต่อย่างใด

ในเรื่องผู้ป่วยจะมีปัญหาบ้างเล้กน้อย ตรงการสั่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน เนื่องจากในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคจะมีระบบส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้านด้วยการผ่านไปรษณีย์  ซึ่งเป็นระบบที่สปสช.ได้ว่าจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการจัดส่งให้ผู้ป่วยในระบบซึ่งมีประมาณหมื่นกว่าคน โดยจัดส่งให้ปีละ 16 ล้านถุง  แต่อีกสองสิทธิไม่มี เนื่องจากระบบ ไม่เอื้อมากนัก อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีผู้ป่วยร้องมาบ้าง แต่ สปสช.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ต้องหารือกับสิทธิอื่นๆ

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้เตรียมเดินหน้าบูรณาการการรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มพบบ่อยนั้น แม้ขณะนี้จะหยุดชะงัก แต่ก็ได้มีการวางระบบมากขึ้น โดยมีการเก็บข้อมูลการเบิกจ่ายยาในแต่ละสิทธิว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้ป่วยโดยตรง

อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพรวมสามกองทุนสุขภาพภาครัฐในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ดูเหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีเพียงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พอจะพูดได้ว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก เรื่องนี้หวังว่าจะแก้ไขได้จริง เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ตกอยู่ที่ประชาชน