ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรม คร. ชี้โรคคอตีบ รักษาหายได้ และสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เป็นกลวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และมีความคุ้มค่ามากที่สุด ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้ใช้การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นเครื่องมือป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้จริง เช่น วัณโรค โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สมองอักเสบเจอี โรคโปลิโอ และโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรนำเด็กไปรับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์อายุ ณ สถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การให้บริการวัคซีนที่ผ่านมาได้ดำเนินการแบบบูรณาการเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบการจัดหาวัคซีนโดยงบประมาณรัฐ ประสานงานติดตามและสนับสนุนวิชาการแก่หน่วยงานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยให้บริการวัคซีนพื้นฐานจำนวนรวม 8 ชนิด ซึ่งมีแอนติเจนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันโรคติดต่อ รวม 10 โรค ได้แก่ วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ตับอักเสบบี และไข้สมองอักเสบเจอี ทำให้โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในปัจจุบันมีรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากครอบคลุมการได้รับวัคซีนประชากรชาวไทยกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ดี อัตราการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเดินทางของประชาชนจากพื้นที่ที่ยังมีการระบาดของโรคเหล่านี้ หรือ พื้นที่ที่โรคเหล่านี้เป็นโรคประจำถิ่นไปยังพื้นที่อื่น อาจทำให้คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ ดังเห็นได้จากเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรคหนึ่ง คือ โรคคอตีบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยทั้งหมด 28 ราย เสียชีวิต 6 ราย และในปี 2557 นี้ จากระบบการเฝ้าระวังโรค โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 - 1 มี.ค. 2557 มีรายงานผู้ป่วยโรคคอตีบแล้ว 2 คน โดยไม่มีผู้เสียชีวิต

โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันของระบบทางเดิน ลมหายใจ ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างพิษที่ก่อให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดเนื้อตายเป็นแผ่นหนาในลำคอหรือหลอดลมและการตีบตันของทางเดินหายใจจนต้องเจาะคอ เพื่อเปิดช่องหายใจ นอกจากนี้สารพิษที่เชื้อโรคคอตีบปล่อยออกมายังทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบด้วย โรคคอตีบเป็นโรคที่มีอัตราตายสูงมาก ในผู้ป่วย 10 ราย จะมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดตันหรือจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก็ได้ โรคนี้ติดต่อโดยการหายใจ การไอ จามรดกัน หรือ พูดคุยกันในระยะใกล้ชิด บางครั้งติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การอมดูดของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก เป็นต้น ผู้ป่วยโรคคอตีบหรือผู้ติดเชื้อคอตีบที่ยังไม่มีอาการ สามารถแพร่เชื้อที่อยู่ในจมูกหรือลำคอไปสู่ผู้อื่นได้ เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในลำคอผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ประมาณ 2 สัปดาห์ ระยะฟักตัวของโรค 1-7 วัน เฉลี่ย 3 วัน เริ่มต้นอาการด้วยมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก แต่ไม่มีน้ำมูก มีอาการไอก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร

ต่อมาจะมีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาติดแน่นที่บริเวณทอนซิล ช่องคอ และ/หรือโพรงจมูก กล่องเสียง ในรายที่อาการรุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ การหายใจล้มเหลว และเสียชีวิต โรคนี้รักษาให้หายได้ ด้วยการไปพบแพทย์ เพื่อสั่งยาปฏิชีวนะ ให้รับประทานนาน 14 วัน บางรายอาจได้รับยาทำลายพิษของเชื้อโรคคอตีบร่วมด้วย

ในผู้ป่วยที่มีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจต้องเจาะคอ เพื่อช่วยหายใจ หลังจากเป็นปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตามเกณฑ์ 3 ครั้ง เพราะการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้

นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การป้องกันโรคคอตีบเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดย 1) นำบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคคอตีบแล้วก็ต้องได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันโรคคอตีบในอนาคต เพราะการป่วยเป็นโรคคอตีบ ไม่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคนี้ได้ 2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคคอตีบ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และในที่ผู้คนอยู่กันแออัด 3) ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และน้ำมูกน้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยต้องทำลายด้วยเทลงส้วมถูกสุขลักษณะ หรือราดน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นน้ำผงซักฟอก หรือ น้ำยาทำความสะอาด 4)ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน เป็นต้น 5) เมื่อไอหรือจามปิดปากปิดจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ และสวมหน้ากากป้องกันโรคเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจ และ 6) ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเวลาไอหรือจาม ก่อนรับประทานอาหารและก่อนประกอบอาหาร และหลังการเข้าห้องน้ำ

อย่าลืมนำบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด ไอจามปิดปากปิดจมูก หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ป้องกันโรคคอตีบได้ ถ้ามีไข้ ไอก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร โดยเฉพาะในเด็ก ให้เด็กสวมหน้ากากป้องกันโรค และรีบมาพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนฯ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทร. 02-590-3196-99 หรือ เว็บไซต์ http://thaigcd.ddc.moph.go.th หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422