ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่น่าห่วง ผู้ป่วยพุ่งกว่า 2 หมื่นคน เสียชีวิตอีก 24 ราย ย้ำ สสจ.ติดตามเฝ้าระวัง ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงาน ล่าสุดพบเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ระบาดทั่วหลายทวีป

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง เนื่องจากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นชัดเจน โดย ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 มีนาคม 2557 รวม 75 วัน พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 23,899 คน เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ เด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่ 7 ปีจนถึง 34 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง เชียงใหม่ ระยอง อุตรดิตถ์ และพะเยา โดยได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังและรายงานผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุการป่วยในไทย คือ สายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์จากผู้ป่วย ในช่วงวันที่ 9-15 มีนาคม พบมากถึงร้อยละ 44 รองลงมาคือสายพันธุ์บี (B) ร้อยละ 38 และสายพันธุ์เอ เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) ร้อยละ 18 ยังไม่พบปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ และไม่พบการดื้อต่อยาต้านไวรัส ซึ่งการป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นแล้วอาจเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจาก ยังมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ  อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อเอช 1 เอ็น 1 มีการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบว่าเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์เก่าอื่นๆ และข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 24 มีนาคม 2557 พบว่าสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตก มากที่สุดคือสายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 เช่นกัน

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้ง่ายภายในครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน โดยเชื้ออยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดกันได้จากการไอ จาม และปนเปื้อนอยู่ที่ภาชนะ หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ราวรถโดยสาร และติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางมือที่เปื้อนเชื้อเมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก เป็นต้น จึงขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค หากจำเป็นเข้าไปต้องป้องกันตนเองอย่างดี ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถเดินทางไปได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง แต่หากต้องการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดการป่วยก็สามารถรับบริการได้แต่ต้องก่อนการเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนโทร.1422

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--