ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาหมักหมมเรื่องการบรรจุ “ลูกจ้างชั่วคราว” เข้าเป็น “ข้าราชการ” ถูกซุกไว้ใต้พรมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาในทุกยุคทุกสมัย

ว่ากันตามข้อเท็จจริงชนิดพลิกเอกสารดูคำสั่งด้วยตาทั้ง 2 ข้าง กล้าพูดได้เต็มปากว่าในยุครัฐมนตรี ประดิษฐ สินธวณรงค์ มีแนวโน้มที่ “ลูกจ้างชั่วคราว” จะถึงฝั่งฝันมากที่สุด

ทว่า นั่นเป็นเพียงข้อเท็จจริงในอดีต แต่ด้วยเงื่อนเวลาที่ทอดยาวผ่านจนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองรุมล้อมมีอันให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภา ฝั่งฝันของเหล่า “ลูกจ้างชั่วคราว” ดูเหมือนจะไกลออกไป

ยิ่งเจาะลึกลงไปถึงต้นทางของปัญหา กลับพบว่า “ระเบิดเวลา” ลูกนี้แทบจะไม่มีทางปลดชนวนได้ในระยะเวลาอันสั้น โดย นพ.ประดิษฐ ยอมรับกับ Health Focus ตรงไปตรงมาว่า “มันจบแล้ว”

ไม่ใช่การโยนบาปโบ้ยความผิด ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ... โปรดเปิดใจอ่านและรับฟังด้วยใจที่เป็นธรรม จะเข้าใจเรื่องราวความเป็นไป

นพ.ประดิษฐ เปิดใจกับ Health Focus อธิบายมูลเหตุที่ไม่สามารถบรรจุ “ลูกจ้างชั่วคราว” เข้าสู่ตำแหน่ง “ราชการ” ได้ ซึ่งจากเอกสารและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เขานำมาแสดงเพื่ออ้างอิง อย่างน้อยก็ทำให้พอที่จะเชื่อได้สักส่วนหนึ่งว่า “เขาทำเต็มที่แล้ว”

ปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ในเฟสที่ 2 (ทั้งที่ในเฟสแรกบรรจุได้สำเร็จ 7,500 อัตรา) เนื่องจาก “ฝ่ายปฏิบัติ” ซึ่งมีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวเรือใหญ่ เพิกเฉย-ละเลย-ทอดเวลาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์

สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ สถานการณ์เปลี่ยนผันรายวัน จนถึงนาทีนี้แทบจะแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

“ทุกคนจะถามผมมาตลอดเรื่องลูกจ้างชั่วคราว โดยเฉพาะสายวิชาอาชีพที่เขาทำงานหนัก ก็ต้องดิ้นรนอยากได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเป็นธรรมดา ตรงนี้เป็นปัญหายาวนานมาอย่างต่อเนื่องและหมักหมมมาโดยตลอด ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเขาก็มาเดินขบวนเรียกร้องเลย ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ไม่เคยให้ตำแหน่งมาเยอะ ในขณะที่มีคนเข้าสู่สายงานมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็น Labor cost ผมก็พยายามแก้โดยเริ่มต้นจากการพูดคุยกับ ก.พ.ก่อน”

“ผมก็ให้กางตัวเลขออกมาดูกัน ผมบอก ก.พ.ไปว่ายอมรับว่าปัญหานี้หมักหมมมาและสธ.เองก็ขายผ้าเอาหน้ารอดมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงคือคนเหล่านี้ได้เข้ามาในระบบมาแล้ว ถ้าเราไม่กลืนลงไปก็คงไม่ได้ เขาเข้าปากมาแล้วจะให้ไปคายทิ้งได้อย่างไร ผมก็บอก ก.พ.ไปอย่างนี้ บอกเขาว่ายังไงก็ให้ช่วยรับเถอะ”

“ก.พ.ก็บอกว่าเอาอย่างนี้ จะรับให้ 75% ส่วนอีก 25% ที่เหลือให้สธ.กลับไปพัฒนาระบบให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีสวัสดิการอะไรที่ดีขึ้นมาเยอะ แล้วก็จะลามมาถึงลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ ผมกับก.พ.ก็ตกลงกันได้อย่างนั้น คือตั้งเป้าบรรจุเฉลี่ยปีละ 7,000 กว่าตำแหน่ง”

“เขาก็ฟังผมนะ ผมก็เอาเกียรติของผมเป็นประกัน ซึ่งตอนนี้ก็เสียเกียรตินั้นไปแล้วเพราะทำไม่สำเร็จ คือ ก.พ.บอกว่าในกระบวนการที่จะรับคนเข้ามาเป็นข้าราชการนั้นจำเป็นต้องมี “ระบบพัฒนาการใช้ทรัพยากรบุคลากร” คือไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาจะรับอย่างเดียวโดยไม่เห็นปลายทาง เพราะถ้าทำอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้คนได้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ”

“ผมก็บอกว่าผมมี Master Plan คือ เราจะเอาทุกโรงพยาบาลในแต่ละเขตมาทำงานเป็นเขตเดียวกัน เป็นการใช้คนร่วมกัน คนตรงนี้ขาดก็เอาจากตรงนี้ไปแชร์ เป็นการใช้ทรัพยากรให้ดีที่สุด มีการจัดโครงสร้างลดตำแหน่งที่ซับซ้อนไม่จำเป็นให้หมด คือเป็น Concept ซึ่ง ก.พ.ก็เข้าใจและเห็นด้วย”

“พอนำเสนอ Concept ผ่าน ก.พ.เขาก็ให้มัดจำมาก่อนหนึ่งปีตามที่ผมได้ขอไป คือ 7,500 ตำแหน่ง แต่เขาก็ไม่ได้ใจดีนะ เพราะในปีที่ 2 ที่จะมาบรรจุรอบใหม่อีก 7,500 ตำแหน่งนั้น ก.พ.ยื่นคำขาดว่า “สธ.จะทำแผนพัฒนาบุคลากร” เหล่านี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม และต้องเริ่ม action ให้เห็นภายในวันที่ 1 ต.ค.2556 คือในปีงบประมาณ 2557”

“คือเขายอมเชื่อผม 1 ปี แต่อีก 2 ปีที่เหลือต้องทำแผนและปฏิบัติให้เห็นด้วย และเขาก็ลามไปถึงแพทย์ใช้ทุนด้วย ปีหนึ่งประมาณ 2,000 กว่าคน โดย ก.พ.บอกว่าที่ผ่านมาเขาก็ต้องรับ เพราะเราบอกว่าหมอขาดหมอไม่พอ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยวางแผนเลยว่าจะกระจายอย่างไร ใช้คนอย่างไร ซึ่งตรงนี้ ก.พ.จะให้อัตรามาใหม่อีก 2,000 อัตรา ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราวนะ แต่ทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขว่าต้องมีแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งหมด”

“แต่ถ้าสธ.ไม่มีแผนให้เขา สธ.ก็ต้องเอาตำแหน่งที่จะเกษียณไปแลก เช่น เราจะมีเกษียณ 1,700 คน เราก็เอาตรงนี้ไปแลก แล้วรัฐบาลจะให้มาแค่ 800 คนเท่านั้น แต่ถ้าทำตามกติกาที่ตกลงไว้ รัฐบาลจะยอมให้เก็บ 1,700 ตำแหน่งนี้ไว้ต่างหากสำหรับรับลูกจ้างชั่วคราว ถ้าทำแบบนี้ได้มันก็จะ win-win ทั้งคู่”

“สรุปแล้ว ก.พ.ก็มีมติออกมาว่าจะต้องทำแผนดังกล่าวให้เสร็จภายใน 1 ต.ค.2556 ก็ต้องทำแผนปฏิบัติการเสนอ ถ้า กพร.อนุมัติก็เอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ ครม.รับทราบ ทุกอย่างก็เสร็จสิ้น ก็เดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ”

“รอบที่หนึ่งคือ 7,500 ตำแหน่งแรกก็ผ่านไปด้วยดี แต่ปัญหาคือรอบสองที่ต้องทำแผนให้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2556 เราก็อธิบายฝ่ายปฏิบัติชัดเจนและให้กรอบระยะเวลาทำงานไปแล้ว แต่ก็ไม่เสร็จ ซึ่งในแง่นี้มันหลุดจากผมไปแล้ว พอตุลาคมไม่เสร็จ พฤศจิกายนก็ไม่เสร็จ ธันวาคมก็ไม่ยังเสร็จ มันก็เกิดปัญหาทางการเมืองจนต้องยุบสภาอีก เมื่อมีการยุบสภาก็ยิ่งเกิดปัญหาต่อว่าการทำแผนทั้งหมดที่ต้องมีการคิดในเชิงนโยบายว่าจะลดจะเพิ่มอะไรอย่างไร มันก็หยุดไปทั้งหมด

“ทีนี้มันเกิดคำถามจากกลุ่มข้าราชการ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่รอบรรจุรอบสองอีกกว่า 7,000 คน เขาก็ถามว่าแล้วจะบรรจุเขาหรือเปล่า มันก็บรรจุไม่ได้ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ มันอยู่ที่ว่าถึงตอนนี้แล้วเรายังนับหนึ่งกันไม่ได้เลย”

วันนี้นับหนึ่งยังทำไม่สำเร็จเลย ไม่ต้องมาพูดถึงจะเอาเข้า กกต.หรอก นับหนึ่งเพื่อที่จะเอาเข้า คพร. (คณะกรรมการนโยบายและพัฒนากำลังคน) มันก็ยังทำไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็น Concept Paper เหมือนที่ผมพูดอยู่ มันยังไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลย ไม่มี How to ว่าจะทำแผนอย่างไร ไม่มีตัววัดผลอะไร มันคล้ายๆ กับสิ่งที่ผมนำเสนอต่อ ก.พ.เมื่อ 1 ปีก่อน ตอนปี 2555 เลย

“ผมก็ยอมรับกับ ก.พ.ว่ามันยังไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นสิ่งที่ลูกจ้างชั่วคราวกำลังรออยู่นี้ มันไม่ใช่รอ 1-2 เดือนให้ กกต.อนุมัติ มันเป็นเรื่องที่ทางนี้ต้องทำเรื่องให้เสร็จ ซึ่งถึงจะเริ่มทำต่อตอนนี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้นลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มนี้ก็คงต้องรอเคว้งไปอีกเป็นปี มันคือระเบิดเวลา ผมก็ต้องมานั่งอธิบายว่า มันหลุดจากผมไปแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค.2556นะ เขาไม่ทำเข้ามาให้ผมเลย แล้วผมก็สั่งอะไรเขาไม่ได้”  

“แล้วตอนนี้แพทย์ใช้ทุนที่จะบรรจุในวันที่ 1 เม.ย.2557 เข้ามาก็ต้องเป็นลูกจ้าง พอเป็นลูกจ้างก็เป็นหมอแบบซังกะตาย อยู่ 3 ปีก็รีบออกแล้ว เพราะมันไม่มีอนาคต จะหาคนไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ และถึงแม้เราจะเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเงินเดือนสูงขึ้นหรือมีสวัสดิการอะไร มันก็ไม่มีใครอยู่หรอก มันคือระเบิดเวลาวันที่ 1 เม.ย.นี้ มันมีตำแหน่งเก่าที่ผมลองเคลียร์ดูเหลือแค่ 300 กว่าตำแหน่ง ขณะที่เราต้องการถึง 2,000 กว่าตำแหน่ง ซึ่งมันก็จะเป็นปัญหา สธ.ก็จะทะเลาะกับ ก.พ.อีก”

“ปัญหาที่งูกินหางคือลูกจ้างชั่วคราวก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ รอบที่แล้วมีลูกจ้างชั่วคราวอยู่ 1.2 แสนคน ผมไล่บรรจุเป็นข้าราชการได้ 7,500 คน มันควรจะเหลือประมาณ 1.1 แสนคน แต่ภายใน 5 เดือน กลับงอกเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 แสนคน คือพอลูกจ้างชั่วคราวออกไปเป็นข้าราชการปุ๊บ รัฐบาลก็จ่ายเงินเดือนให้คนกลุ่มนี้แทน สถานพยาบาลก็เอาเงินที่เหลือคือเงินที่จ่ายเป็นเงินเดือนให้ลูกจ้างชั่วคราวเดิมไปจ้างคนเข้ามาเพิ่มอีก แล้วก็มาล็อกคอว่าถ้าไม่บรรจุให้หมดจะเดินขบวนนะ ก.พ.เขาก็ต่อว่าเราแบบนี้ ว่าเราใช้คนไม่มีระบบ”

“พอมันไม่มีแผนมันก็จะบวมไปเรื่อยๆ ซึ่งข้อเท็จจริงคือในแง่นโยบายมันจบไปแล้ว แต่ในระดับปฏิบัติ กลับไม่ยอมทำแผนเลย และยิ่งตอนนี้ผมอยู่ในสถานะรักษาการรัฐมนตรีก็ยิ่งไม่มีอำนาจจะตัดสินอะไร ก็ที่ผ่านมาไม่เคยเสนออะไรมาให้ผมตัดสินเลย แล้วมาถามตอนนี้มันหมดเวลาแล้ว”

นพ.ประดิษฐ ทิ้งท้ายไว้ห้วนๆ ว่า “ที่สุดแล้วผมก็ทำได้แค่เจรจากับลูกจ้างชั่วคราวต่อไป ก็ต้องแบกหน้าไปขอให้เขาเสียสละอีก ซึ่งผมทำอะไรไม่ได้จริงๆ มันเป็นระเบิดเวลา และพอถึงรอบที่ต้องบรรจุใหม่ ก็จะต้องมีคนมาโยนว่าเป็นเพราะฝ่ายการเมืองไม่สนใจ ซึ่งผมก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่องทั้งๆ ที่ผมทำเต็มที่แล้ว”

นพ.ณรงค์ ว่าอย่างไร ?  ช่วยออกมาอธิบายหรือชี้แจงหน่วยว่าตัวเองใช่ “ต้นเหตุ” ที่ทำให้พี่น้องลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการหรือไม่ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอประดิษฐแจงเหตุบรรจุขรก.ล่าช้า เพราะสธ.ยังทำแผนเสนอคพร.ไม่เสร็จ ค้างตั้งแต่ ก.ย.56

หมอวชิระยันส่งแผนให้ก.พ.ตั้งแต่เม.ย.แล้ว แต่ติดขัดเป็นรัฐบาลรักษาการ

‘ช้าและไม่มีประสิทธิภาพ’ เหตุลูกจ้างฝันค้างบรรจุขรก.สธ.