ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สกอ. หารือ สปสช. เดินหน้าจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย” มอบ สปสช.บริหาร ใช้ “โมเดลกองทุนรักษาพยาบาล อปท.” หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน ลดความเหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล สร้างขวัญกำลังใจพนักงานมหาวิทยาลัย พร้อมให้ผู้แทนมหาวิทยาลัยศึกษาข้อมูลภายใน 1 เดือนเพื่อกลับมาหารือกับ สปสช.อีกครั้ง

วันนี้ (11 มิถุนายน 2557) ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วมประชุมกับ นายขจร จิตสุขุมมงคล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อหารือการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพแห่งพนักงานมหาวิทยาลัย

นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช.ได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อร่วมหารือการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพแก่พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อพัฒนาระบบดูแลด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นการหารือนี้นับเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ สปสช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณกองทุนรักษาพยาบาล ไม่เพียงแต่ทำให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา นอกจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลด้านการรักษาพยาบาลให้กับคนไทย 48 ล้านคน ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 โดยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว สปสช.ยังได้รับความไว้วางใจจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในการจัดตั้ง “กองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา นับเป็นกองทุนรักษาพยาบาลแรกที่มอบให้ สปสช.บริหารจัดการ ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จนได้รับความพึงพอใจจากข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นในการเข้ารับบริการ

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้นำเสนอต่อ สปสช.เบื้องต้นระบุว่า ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาใช้งบประมาณถึง 3,555 ล้านบาทต่อปี ในการจัดบริการด้านสุขภาพให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ และบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการ จำนวน 131,692 คน นับเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระบบรักษาพยาบาลอื่น ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อจัดหาระบบที่เหมาะสมกับพนักงานมหาวิทยาลัย และพบว่าหากพนักงานมหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาใช้สิทธิตามโมเดลที่ สปสช.ดำเนินการกับข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มการเข้าถึงการรักษามากขึ้น

“ด้วยเหตุนี้ ทาง สกอ.จึงได้ประสานเพื่อหารือกับทาง สปสช.ในการเดินหน้าโมเดลกองทุนรักษาพยาบาลเดียวกับองค์กรปกครงส่วนท้องถิ่น ที่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาพยาบาลอีกต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ส่วนแนวทางการดำเนินการนั้น คงต้องดำเนินการเช่นเดียวกับกองทุนกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเพื่อกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยใช้สิทธิตามมาตรา 9 ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ด้าน นายขจร กล่าวว่า ข้อหารือวันนี้ทาง สกอ. และ สปสช.ได้มีการพูดคุยในประเด็นต่างๆ อาทิ การจัดระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่ สปสช.ดำเนินการให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นมีวิธีการอย่างไร, การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพของ สปสช.มีจุดเด่นหรือส่งผลประโยชน์ต่อพนักงานวิทยาลัยอย่างไร รวมถึงการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ, ขั้นตอนและวิธีการในการเข้าร่วมการจัดสวัสดิการสุขภาพกับทาง สปสช. ค่าใช้จ่ายต่อหัวและวิธีการจ่ายเงินสมทบ รวมถึงสิทธิประโยชน์ ระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับกองทุนประกันสังคม

“ในวันนี้ทาง สกอ.ได้ขอให้ทาง สปสช.พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดระบบรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์การรักษาให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างกองทุน อปท. ที่รวมไปถึงการดูแลครอบครัว ขณะเดียวกันให้ทางผู้แทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รวมถึงตัวแทนมหาวิทยาลัยไปศึกษาข้อมูลภายใน 1 เดือน เพื่อกลับมาหารือกับทาง สปสช.อีกครั้ง” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สกอ. กล่าว