ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” ห่วงประเทศไทย “หมอ - คนไข้” ความสัมพันธ์ไม่ดี นำมาสู่การฟ้องร้องแพทย์ เหตุอธิบายอาการเจ็บป่วยการรักษาไม่ชัดเจน แนะสื่อสารด้วยใจอาทรมากขึ้น ชี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยแก้ปัญหาได้ ลั่นจะทำ สธ. เป็นกระทรวงสีขาว ฝึกอบรมคนให้ข้อมูลคอร์รัปชัน
       
เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (9 ต.ค.) ที่สถาบันพระปกเกล้า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมาภิบาลกับวงการแพทย์ไทย” ในงานสัมมนาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์เพื่อผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศเป็นนโยบายเรื่องธรรมาภิบาล โดยจะทำให้ สธ. เป็นกระทรวงสีขาว โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย แนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง และการต่อต้านทุจริต ซึ่งการจะตรวจจับบุคคลที่ทุจริตได้ต้องมีคนช่วยจับหรือเป่านกหวีดว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นตรงจุดใด ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาตรงที่คนเห็นการทุจริตไม่กล้าแสดงตัว เพราะเกรงภัยถึงตัว จึงต้องมีการฝึกอบรมคนที่จะให้ข้อมูลในเรื่องคอร์รัปชัน 

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ ตั้งแต่ปี 2536 - 2556 แพทย์ถูกร้องเรียนเข้าสู่แพทยสภาเป็นจำนวนมาก แม้ช่วงปี 2545 - 2550 จะมีแนวโน้มลดลง เพราะอาจมีการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งปัญหานี้ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องธรรมาภิบาลด้วย คือ แพทย์ให้ข้อมูลอาการเจ็บป่วยหรือการรักษาแก่ญาติหรือคนไข้ไม่เพียงพอ หรือไม่มีเวลาในการอธิบายข้อมูลที่ชัดเจน ไม่เอื้ออาทรกันและกันทำให้เกิดการฟ้องร้อง ซึ่งตนไม่อยากเห็นกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างในสหรัฐอเมริกาที่ความสัมพันธ์แพทย์และคนไข้ไม่ดี เพราะไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน
       
“การแก้ไขในเรื่องความสัมพันธ์ของแพทย์และคนไข้ คิดว่าแพทย์นอกจากจะให้การดูแลรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว ต้องอาศัยจิตใจเอื้ออาทร ดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ พร้อมอธิบายให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรักษาที่ชัดเจนแก่คนไข้ จะเป็นจุดสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... จะมีส่วนลดการฟ้องร้องแพทย์ได้หรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งในเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. เป็นการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกลั่นกรองหลายครั้ง แต่ยังมีประเด็นที่ต้องหารือและพิจารณาอีกมาก ส่วนตัวเชื่อว่าหากร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้จะช่วยแก้ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ให้ลดลงได้