ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “หลักการแนวทางการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.สธ.”เน้นจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนงานเชิงรุก สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพคนไทย

16 ต.ค. 57ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ –ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้ให้ความเห็นชอบใน (ร่าง) หลักการแนวทางการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายที่ตนเองได้มอบไว้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง สปสช.นับเป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ สปสช.ได้จัดทำแนวทางการบริหารที่ครอบคลุมนโยบายทั้ง 10 ด้าน ดังนี้

นโยบายที่ 1 ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ์ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการฟันเทียมพระราชทาน โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว โครงการตรวจคัดกรองและผ่าตัดตามต้องกระจกในผู้ป่วย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการประเมินประสิทธิภาพการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีอายุ 30-80 ปี

นโยบายที่ 2 พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยมีการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบยั่งยืน สปสช.ได้จัดทำแนวทางบริหารสนับสนุน 9 ข้อ ได้แก่

1.พัฒนาและดำเนินการทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ

2.พัฒนาระบบบริการในแต่ละเขตพื้นที่ เน้นความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิ

3.พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ทุกกองทุนมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวเรื่องสิทธิประโยชน์

4.เร่งรัดดำเนินการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตามนโยบาย “ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์”

5.เร่งรัดดำเนินการระบบการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในหนึ่งปี

6.เร่งรัดพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชากรที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะคนพิการ ประชากรที่มีปัญหา สถานะและสิทธิ์ ประชากรต่างด้าว/แรงงานต่างด้าว ประชาชนตามพื้นที่พิเศษ

7.พัฒนาประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมในการจัดการและการใช้ทรัพยากรของระบบบริการ

8.สนับสนุนการบูรณาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร

และ9.เร่งรัดการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริการ ให้ผู้รับบริการได้รับความปลอดภัยมากที่สุด และผู้ให้บริการมีความมั่นใจ โดยจัดให้มีทศวรรษ แห่งการพัฒนาคุณภาพบริการและความปลอดภัยของผู้ป่วย

นโยบายที่ 3 สร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิต โดยจัดการกับปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพตามกลุ่มวัย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ทารกและเด็กเล็ก 2.กลุ่มวัยเรียน (5-14 ปี) 3.กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน (14-59 ปี) และ 4.ผู้สูงอายุ แต่ละกลุ่มจะได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยกิจกรรมี่เหมาะสมกับวัย นโยบายที่ 4 สร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ทำงานข้ามภาคส่วน โดยสนับสนุนให้เกิดกลไกการดำเนินการตามนโยบายที่มีส่วนร่วมจากทุกองค์กรในระบบสาธารณสุข นโยบายที่ 5 พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพ ดำเนินการภายใต้กิจกรรม 3 ข้อ ได้แก่ 1.สนับสนุนการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 2.สนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการ และ 3.เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการบุคลากรใด้มีระบบการจ้างงานและระบบการสร้างฉันทะแรงจูงใจ

นโยบายที่ 6 พัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมและเร่งรัดการดำเนินการในการจัดตั้งดรงงานผลิตวัคซีนและชีวิวัตถุ และสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของกลไกการพันาระบบยาและเทคโนโลยีของประเทศ นโยบายที่ 7 จัดการโรคติดต่อและภัยคุกคามด้านสุขภาพ สปสช.มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบและกลไกการพิจารณการผลิตวัคซีนและเทคโนโลยีชนิดใหม่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ผ่านประเมินประสิทธิภาพเทคโนโลยีและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน

นโยบายที่ 8 สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพโลก จัดทำและดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพโลกและภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทย นโยบายที่ 9 สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร โดยจะผลักดันให้มีกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร และ นโยบายที่ 10 พัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรของรัฐด้านสุขภาพ

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำแนวทางการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสนับสนุนนโยบาย รมว.สาธารณสุข ทาง สปสช.ได้จัดทำบนหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ “3 ส. ย 1” คือ “เสมอภาค มีส่วนร่วม มีความสุข และยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและเสมอภาค มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาตส่วนอย่างกว้างขวางบนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรสุขภาพให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ และมุ่งน้น ทำให้เร็ว ทำจริง ทำให้ได้ผล และมีผลต่อเนื่องยั่งยืนตามแนวทางนายกรัฐมนตรี.