ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือกรมควบคุมโรค รุกงานป้องกัน ช่วยคนไทยเข้าถึงวัคซีนจำเป็น เผยปี 58 เตรียมขยายเป้าหมายให้ “วัคซีนป้องกันโรคหัด” เด็กไทย 3 ล้านคน เดินหน้าให้ “วัคซีนป้องกันคอตีบ” เพิ่มในผู้ใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าร่วมจัดหาวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทยทดแทน หลังบริษัทผลิตวัคซีนขนาดใหญ่หันผลิตวัคซีนใหม่และวัคซีนรวมราคาแพง ยันไม่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนสำหรับเด็กไทยแน่นอน

9 พ.ย.57 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ผ่านมารัฐบาลได้จึงกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยในแต่ละช่วงวัย โดยกรมควบคุมโรค จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กไทยได้รับวัคซีนพื้นฐานอย่างทั่วถึงเท่านั้น อาทิ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และวัคซีนโปลิโอ เป็นต้น แต่ยังมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลชุดนี้    

ทั้งนี้ในปี 2558 กรมควบคุมโรคยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้างานป้องกันโรคด้วยวัคซีน โดยเตรียมกวาดล้างโรคหัดด้วยตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้กับเด็กไทยจำนวน 3 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กไทยมีภูมิต้านทานโรคหัด พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมเดินหน้าฉีดวัคซีนโรคคอตีบเสริมเพิ่มเติมให้กับผู้ใหญ่ อายุ 20-50 ปี เนื่องจากปี 2555 ได้พบผู้ป่วยโรคคอตีบ 50 รายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้บางจังหวัดในประเทศไทย จึงต้องดำเนินการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาด เบื้องต้นในเดือน ต.ค.- ธ.ค. นี้ เป็นการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี 2558 จะขยายการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบไปทั่วประเทศ      

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สปสช.มีหน้าที่จัดหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง รวมถึงเด็กไทยที่ต้องได้รับวัคซีนพื้นฐาน ถือเป็นภารกิจสำคัญของ สปสช. โดยการดำเนินงานด้านวัคซีนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้กับเด็กไทยตามช่วงอายุ มีประมาณ 10 รายการ อาทิ โปลิโอ คอตีบ บาดทะยัก และโรคหัด เป็นต้น และกลุ่มวัคซีนทั่วไป อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยมูลค่าวัคซีนที่ สปสช.ดำเนินการนี้จะอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาทต่อปี จากมูลค่าวัคซีนรวมทั้งประเทศ 4,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้จากที่บริษัทวัคซีนขนาดใหญ่ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มเลิกผลิตวัคซีนพื้นฐาน โดยหันไปผลิตวัคซีนใหม่หรือวัคซีนรวมหลายโรคในโด๊สเดียวกันที่ให้ผลกำไรดีกว่า ซึ่งทำให้วัคซีนมีราคาแพงขึ้น ดังนั้น สปสช.จึงได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดหาแหล่งผลิตวัคซีนใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก และมีราคาเหมาะสมกับประเทศไทย อาทิ ประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ทดแทนในประเทศ นอกจากนี้ในประเทศไทยเองยังมีโรงงานวัคซีนแบ่งบรรจุที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์เภสัชกรรม (อภ.) และบริษัทวัคซีนประเทศฝรั่งเศส รวมถึงโรงงานแบ่งบรรจุวัคซีนเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนมาแบ่งบรรจุรองรับการใช้วัคซีนในประเทศได้เช่นกัน จึงยืนยันได้ว่าไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในประเทศแน่นอน  

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ส่วนแผนระยะยาว อภ.ยังมีแผนจัดตั้งโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเป็นโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีอัตราการใช้จำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งยังรองรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัคซีนเช่นเดียวกับกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ในปี 2552 นับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศ

“การเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อสามารถเกิดได้ตลอด ซึ่งปัจจุบันมีโรคติดเชื้อหลายโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สปสช.และกรมควบคุมโรคจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็น เป็นการเพิ่มมีภูมิต้านทานโรคควบคู่กับการดูแลสุขภาพตนเองเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเจ็บป่วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว