ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย สธ. คณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ร่วมกับ สปสช.เตรียมลงนามความร่วมมือ “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สูญเสียฟันบดเคี้ยวให้ได้รับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก จำนวน 2,200 ราย ต่อเนื่องโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากกระแสพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รวมพลังดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประกอบกับปี 2557 ได้ประกาศให้โครงการฟันเทียมพระราชทานเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2558 แก่ประชาชนไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุจำนวน 35,000 ราย ซึ่งหลังจากมีการประชาสัมพันธ์โครงการทำให้ผู้สูงอายุไปขอรับบริการจำนวนมากส่งผลให้เกิดการรอคิวเพื่อรับบริการเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเขตเมือง การเพิ่มความร่วมมือในการจัดบริการร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย ที่นอกจากจะมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังมีศักยภาพในการจัดบริการด้านทันตกรรมให้กับประชาชน จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวสามารถเข้าถึงบริการฟันเทียมได้มากขึ้น

กรมอนามัย สปสช. จึงได้ร่วมมือกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบันได้แก่ 1) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  4) คณะทันตแพทยศาสตร์ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) คณะทันตแพทย์ศาตร์ ม.รังสิต 6) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร 8) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ9) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทาน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุได้มีฟันบดเคี้ยวอันจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุต่อไป

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่แต่เฉพาะประเทศไทย แต่หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณกว่า 9 ล้านคน หรือร้อยละ 13.8 ของประชากรไทย ขณะที่ปี 2563 คาดว่าทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุประมาณ 12.2 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากร ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมแผนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2543 องค์การอนามัยโลกเสนอแนะว่า หากลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคเรื้อรังได้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัญหาสุขภาพช่องปานับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ

จากการสำรวจสภาวะสุขภาวะช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีจำนวนฟันน้อยกว่า 20 ซี่ คิดเป็นร้อยละ 42.2 แม้ว่าจำนวนผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากจะมีจำนวนลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 ความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรสูงอายุ ส่งผลให้ยังมีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมสูงถึง 236,000 ราย

สปสช. ได้ให้ความสำคัญกับการปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนไทย จึงได้บรรจุให้กิจกรรมบริการใส่ฟันเทียมเป็นหนึ่งในชุดสิทธิ์ประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นการให้บริการฟันเทียมในกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและอายุยืนยาวต่อไป

“ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมมือกับ กรมอนามัย สธ. และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข ซึ่งโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ เป็นโครงการหนึ่งที่ยังประโยชน์ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อให้มีฟันบดเคี้ยวและนำมาสู่สุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น สปสช.จึงได้จัดงบประมาณจำนวน 12,980,000 บาท เพื่อใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 2,200 ราย ให้ได้รับการใส่ฟันเทียม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย จะมีการลงนามความร่วมมือในวันที่ 8 เมษายน 2558 เวลา 10:00-11:30 น ณ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล นี้ โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามด้วยตนเอง