ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนข้อความคำเตือนพิษภัยและอันตรายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ข้างซองบุหรี่ 10 ข้อความใหม่ เช่น “ควันบุหรี่มีสารยาดองศพ” “ควันบุหรี่มีสารยาเบื่อหนู” มีผลบังคับใช้วันที่ 30 ก.ย.นี้ ชี้จะทำให้ทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่รับรู้ถึงสารพิษที่มีอยู่ในควันบุหรี่มากขึ้น ทำให้ผู้สูบมีความอยากเลิกมากขึ้น และผู้ไม่สูบบุหรี่มีความคิดที่จะเริ่มสูบบุหรี่ลดลง

วันนี้ (4 เมษายน 2558) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 18 พ.ศ.2558 เรื่อง การแสดงข้อความเกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งออกมาทดแทนประกาศฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2554 ได้รับการลงประกาศเผยแพร่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน คือวันที่ 30 กันยายน ปีนี้  โดยข้อความคำเตือนพิษภัยและอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบด้านข้างซองบุหรี่ซิกาแรต 10 ข้อความใหม่ ประกอบด้วย ควันบุหรี่มีสารยาดองศพ, นิโคตินในบุหรี่ใช้ทำยาฆ่าแมลง, มีสารพิษ 250 ชนิดในควันบุหรี่, ควันบุหรี่มีสารยาเบื่อหนู, เป็นวัณโรคง่ายถ้าสูบบุหรี่, สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งตับ, 140 คนต่อวันคนไทยตายจากบุหรี่, อยากเลิกต้องไม่สูบในบ้าน, สูบบุหรี่ในบ้านทำร้ายครอบครัว และ “พ่อแม่สูบลูกเลียนแบบ” โดยข้อความคำเตือนแต่ละแบบ จะต้องพิมพ์บนพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ด้านข้างซองบุหรี่ซิกาแรตทั้งสองข้าง โดยมีการหมุนเวียนข้อความในอัตรา 1 แบบต่อ 5,000 ซอง และหนึ่งแบบต่อ 500 คาร์ตัน

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควมคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อความคำเตือนด้านข้างซองบุหรี่ชุดใหม่  มีโรคใหม่ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งตับ การสูบบุหรี่ทำให้เป็นวัณโรคง่าย ขณะที่ข้อความคำเตือนบางแบบ ก็เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น เช่น  ข้อความคำเตือนเดิมที่ว่าควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งฟอร์มาลดีไฮด์ เปลี่ยนเป็น ควันบุหรี่มีสารยาดองศพ เนื่องจากฟอร์มาลดีไฮด์เป็นยาดองศพ และคำว่านิโคตินในควันบุหรี่เป็นสารเสพติด เปลี่ยนเป็น นิโคตินในควันบุหรี่ใช้ทำยาฆ่าแมลง ข้อความคำเตือนชุดใหม่จะทำให้ทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่รับรู้ถึงสารพิษที่มีอยู่ในควันบุหรี่มากขึ้น ทำให้ผู้สูบมีความอยากเลิกมากขึ้น และผู้ไม่สูบบุหรี่มีความคิดที่จะเริ่มสูบบุหรี่ลดลง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ 02 580 9264 และสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422