ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.นำทีมผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 68ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส วันที่ 18-21 พ.ค. 2558 ซึ่งมีรมต.สธ.สาธารณสุขจากทุกประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมหารือมาตรการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพประชากรโลก และเตรียมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ “การสร้างระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามและสิ่งท้าทายต่อสุขภาพ” และลงนามความร่วมมือเฝ้าระวังโรคติดต่อใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หารือกับรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ และการบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการให้ประชาชนเข้าถึงได้รับวัคซีนพื้นฐาน และหารือกับ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เรื่องความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพชาวต่างด้าวและการดูแลผู้สูงอายุระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและองค์การอนามัยโลก
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 18-21พฤษภาคม 2558 จะนำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 68 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดโดยองค์การอนามัยโลก โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจาก 194 ประเทศเข้าประชุมกว่า 2,000 คน เพื่อร่วมมือกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับโลก

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ ในวันที่ 18 พ.ค.ตนจะกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในหัวข้อ การสร้างระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามและสิ่งท้าทายทางสุขภาพ (Building Resilient Health Systems) และร่วมอภิปรายกับผู้นำระดับโลกในวาระสุขภาพหลังปี คศ. 2015 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Health in the post 2015 sustainable development goals) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเฝ้าระวังโรคติดต่อใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง อันเนื่องมาจากการตระหนักถึงภัยคุกคามโรคระบาด ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศที่ติดต่อกัน การลงนามครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคระบาด ซึ่งที่ผ่านมา โรคระบาดในภูมิภาคนี้ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เป็นต้น

ในวันที่ 19 พ.ค. จะมีการหารือในระดับรัฐมนตรี (Ministerial Breakfast on Antimicrobial Resistance) เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกประกาศว่ายาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคได้อีกต่อไป จากข้อมูลของ 114 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่าไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้อีกแล้วในอนาคต เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทุกวัย และทุกประเทศ ดังนั้นการหารือครั้งนี้เพื่อการผลักดันเป็นนโยบายระดับประเทศเพื่อการดำเนินการต่อไป ขณะเดียวก็จะเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ในหัวข้อ คำมั่นสัญญาทางการเมืองและความร่วมมือระดับโลกต่อการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ (Political Commitment and Global Efforts to Accelerate the Responsible Use of Antimicrobials) ซึ่งจัดโดยกลุ่มประเทศ Foreign Policy and Global Health หรือ FPGH ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการทูตเพื่อสาธารณสุข 7 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย เพื่อให้ตอบสนองต่อกระแสปัจจุบันที่ประเด็นด้านสาธารณสุขไม่ได้เป็นเพียงประเด็นภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากกลุ่มประเทศ FPGH แล้ว ยังเป็นการจัดประชุมร่วมกับ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, เยอรมนี, อินเดีย เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และอังกฤษ ด้วย

นอกจากนั้น ตนจะหารือความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพชาวต่างด้าวและการดูแลผู้สูงอายุระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและองค์การอนามัยโลก ร่วมกับ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ด้วย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า  ในวันที่ 20 พ.ค. จะเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศคองโก ในหัวข้อ การบรรลุเป้าหมายระดับโลกในแผนการสร้างความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนพื้นฐาน (Achieving the Global Vaccine Action Plan Objective for Routine Coverage : What can be done to get back on track?) ซึ่งไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการวัคซีนพื้นฐาน