ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.58 ที่ จ.นครนายก สปสช.เขต 4 สระบุรี ประชุมเชิงปฎิบัติการ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาระบบบริหารจัดการตามตัวชี้วัดงบเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ ปี 2558 (QOF) และการนำเสนอผลงานการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ จากกลไกการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557-2558 โดยมีผู้รับผิดชอบงานปฐมภูมิจาก สสจ. สสอ.หน่วยบริการ  รพสต. ในพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง และภาคเอกชน 1 แห่งใน 8 จังหวัดภาคกลางเข้าร่วมกว่า 50 คน

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นการดำเนินการบริการปฐมภูมิเขตเมือง สู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายระบบสุขภาพในอนาคต ที่จะกระจายอำนาจลงสู่ระดับเขต ฉะนั้นข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงทางความคิดถือเป็นสิ่งสำคัญ ในส่วนของ QOF อยากเห็นตัวชี้วัดระดับจังหวัดที่เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ บนพื้นฐานการทำงานที่มีประสิทธิภาพ  สปสช. พร้อมสนับสนุนการกระจายอำนาจ ทั้งหน่วยบริการรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ให้มากที่สุด เช่นโครงการโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ของบริการปฐมภูมิเขตเมือง เป็นต้น

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธาน DHS เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวว่า โครงสร้างใหม่ในระบบสุขภาพของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 15 อำเภอนำร่อง คือการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ ตามที่ กมธ.สาธารณสุข ได้เสนอ แก่ สปช. (สภาปฎิรูปแห่งชาติ)  ได้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว เน้นทำงานแบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพกันเอง ภายใต้นโยบาย “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เน้นส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาคนมากกว่ารักษาไข้  ฉะนั้นภาพรวม DHS หรือระบบสุขภาพอำเภอ การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญต่อการจัดการระบบสุขภาพ  โดยต้องมีการจัดการที่ดี  ซึ่งระบบสุขภาพอำเภอขึ้นอยู่กับคนเป็นสำคัญ

อนาคตใช้คอนเซ็ป Caring Society ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการกระจายอำนาจ เริ่มจากนำร่อง 15 อำเภอ โดยเปลี่ยนวิธีการจัดการให้คณะกรรมการสุขภาพระดับอำเภอเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับเพื่อให้อำนาจการบริหารเกิดความชัดเจนมากขึ้น จะทำให้การจัดบริการตรงความต้องการและแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่มากที่สุด เป็นการช่วยกันทำงานลดความซ้ำซ้อน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน  

ตัวอย่าง จ.นนทบุรี มีคอนโดสุขภาพเขตเมือง  จ.ลพบุรี มีนารายณ์โมเดล ถือเป็นที่สนใจ และอยากให้มีเวทีหารือระหว่างผู้บริหารหน่วยบริการร่วมกับทีมเขตเมือง  ซึ่งพื้นที่เขตเมืองของเขตสุขภาพที่ 4 มีจำนวน 10 พื้นที่ และภาคเอกชนได้แก่มิตรไมตรีคลินิก 1 พื้นที่รวมเป็น 11 พื้นที่ ถือเป็นการยกระดับการทำงานในเขตเมืองมากขึ้น

นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า เดือนหน้าจะมีเวทีพูดคุยร่วมกับ สสจ. และ สสอ.นำคุยโดย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 4 ในการดำเนินการระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ซึ่งมองว่า ผอ.รพ. และสาธารณสุขอำเภอ เป็นส่วนสำคัญในการจัดการระบบปฐมภูมิ สิ่งสำคัญ 2 ส่วน ในการทำงานปฐมภูมิเขตเมือง ได้แก่ส่วนแรกการบริหารจัดการในระดับจังหวัด พบว่าบางที่ยังมีปัญหา ส่วนที่สองเชิงวิชาการ จะได้หารือกับสถานบันการศึกษา เช่นวิทยาลัยพยาบาลฯ เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการเรียนรู้  หรืออาจจะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น เช่น care maneger, care giver ในเรื่องการบริหารจัดการ  สำหรับ 11 พื้นที่ จะต้องใช้ข้อมลฐานเดียวกันในการจัดการ เพื่อให้พื้นที่ไม่สับสน โดยเน้น Ucare เป็นหลักในการจัดการ  พร้อมทั้งเชิญชวนพื้นที่ต่อยอดการจัดการ เช่นต่อยอดขยายโครงการ low carb ลดแป้งในอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อลดระดับการกินยาของมิตรไมตรี เป็นต้น

ดร.เยาวดี สุวรรณนาคะ

ดร.เยาวดี สุวรรณนาคะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) พระพุทธบาท กล่าวว่า วพบ.พระพุทธบาท ได้ MOU ร่วมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรีตามโครงการประเมินผลการเยี่ยมติดตามการพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอปี 2557 เพื่อสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยของความสำเร็จ และผลลัพธ์ของการพัฒนาบริการสุขภาพที่ดำเนินการผ่านกระบวนการเชิดชู ชื่นชม การให้คุณค่าและบูรณาการในพื้นที่และจัดการความรู้แบบอิงบริบทของแต่ละพื้นที่ของเขตบริการสุขภาพที่ 4  เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวมของเขต โดยเลือกพื้นที่ดำเนินการ 8 แห่ง ได้แก่ 1.เครือข่ายบริการโรงพยาบาลสิงห์บุรี ชุมชนเมืองเข้มแข็งเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 2.เครือข่ายบริการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี  คอนโดสุขภาพหมู่บ้านสุขภาพเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพผู้อยู่อาศัย 3. เครือข่ายบริการโรงพยาบาลปทุมธานี รูปแบบบริการเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยติดเตียง 4.เครือข่ายโรงพยบาลอ่างทอง เครือข่ายผู้สูงอายุเข้มแข็ง และธนาคารน้ำตาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน 5.เครือข่ายบริการโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช King Narai Chronic Care Model 6.เครือข่ายบริการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ชุมชนเข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพ 7.เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตเมืองเพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงผ่านการเรียนรู้แบบสัญจรของเครือข่ายบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาทุเรียน อ.เมือง จ.นครนายก 8.เครือข่ายบริการโรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้มแข็งกับการบริหารจัดการแบบบูรณาการของเครือข่าย ซึ่งพื้นที่ทั้ง 8 แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการระบบบริการได้ประสบผลสำเร็จ และถือเป็นพื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างดี