ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากการรักษาพยาบาล อันนำมาสู่การฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ แต่หากมองลึกลงไปของปัญหาแล้ว ทั้งแพทย์และผู้ป่วยไม่อยากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา โครงการ Engagement for Patient Safety หรือ โครงการร่วมมือร่วมใจ ความปลอดภัยของผู้ป่วย โดย สรพ.จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยมีมาตรฐาน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และเกิดความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรองรับคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการ Engagement for Patient Safety หรือ โครงการร่วมมือร่วมใจ ความปลอดภัยของผู้ป่วย เกิดขึ้นมาจากปัญหาที่ผู้ป่วยต้องเจ็บป่วยแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าอุบัติการณ์ความเสี่ยงของผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลเกิดขึ้นระหว่างร้อยละ 4 ถึง 16 โดยที่ประชากรหลายร้อยล้านคนต้องติดเชื้อจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 1 คนในทุก 10 คนที่เข้ารับการรักษาจะได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ และอุบัติการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาจะเกิดสูงขึ้นกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายเท่าตัว

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ในประเทศไทยจากการสำรวจเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ปีงบประมาณ 2549 พบอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย 207,073 ครั้ง เฉลี่ย 532 ครั้ง/แห่ง และจากข้อมูลผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ได้รับบริการได้รับความเสียหายจาก สปสช. ปี 2547-2551 รวมทั้งสิ้น 1,932 ราย เป็นจำนวนเงิน 171,369,183 บาท หรือเฉลี่ย 88,700 บาทต่อราย แต่เมื่อเทียบกับปี 2556 เพียงปีเดียวที่ผ่านมา สปสช.จ่ายเงินค่าช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 995 ราย เป็นจำนวนเงิน 191,575,300 บาท หรือเฉลี่ย 192,538 บาทต่อราย ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนการร้องและปริมาณค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันปัญหาในการฟ้องร้องทางคดยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่า ประเทศไทยแม้จะมีการพัฒนาระบบการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีช่องว่างในระบบการบริการสุขภาพอยู่ ในเรื่องการพัฒนาระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยตลอดมา จากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับประเด็นมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขจำแนกตามสาขาบริการ พบว่า แผนกที่ถูกร้องเรียนมาก 3 อันดับแรกคือ แผนกอายุรกรรม ร้อยละ 54.33 ศัลยกรรม ร้อยละ 12.6 และกุมารเวชกรรม ร้อยละ 9.45

หากจำแนกตามประเภทบุคลากรที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ แพทย์ ร้อยละ 65.35 เภสัชกร ร้อยละ 12.6  และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ร้อยละ 10.24 ฃ

ส่วนประเด็นที่มีมูลความจริงที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตรวจวินิจฉัยไม่ละเอียด/ไม่ตรวจวินิจฉัย ร้อยละ 20.47 ไม่มั่นใจการตรวจ/แผนการรักษา ร้อยละ 18.11 และแพทย์/เจ้าหน้าที่ไม่จ่ายยา ร้อยละ 16.54

และพื้นที่ของโรงพยาบาลที่มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้มาก คือ ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด ห้องผ่าตัด และห้องไอซียู

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ได้รับจากการเข้ารับบริการทางแพทย์ ที่พบว่า ทุกโรงพยาบาลสามารถเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคน หรือระบบ แต่เกิดจากทุกๆ อย่างที่ก่อให้เกิดปัญหา ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

ดังนั้นการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้รับการและผู้ให้บริการไม่เกิดอคติซึงกันและกัน

ทั้งนี้ การพัฒนาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจะต้องประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยอาศัยการสร้างองค์ความรู้ ข้อมูล และการพัฒนา และการสร้างความร่วมมือให้เห็นในระดับสากล และนำแนวความคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขามาปรับเพื่อขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย  ได้แก่ 1.การพัฒนาความรู้ การศึกษา ซึ่งต้องมีการสอดแทรกเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัยและทักษะในการรักษาผู้ป่วย 2.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นตัวแทนของการทำงานในภาคประชาชน และ 3.การเชื่อมกับฝ่ายนโยบาย

สำหรับโครงการ Engagement for Patient Safety นี้เกิดเมื่อปี 2556 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพิ่มคนที่มีทักษะทางการแพทย์ และลดปริมาณความเสี่ยงในผู้ป่วย และก่อให้เกิดการพัฒนาระบบที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยการขับเคลื่อนผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่สามารถประเมินและวัดผลได้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Engagement for Patient Safety จำนวน 184 แห่งจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 1,314 แห่ง โดยครอบคลุม 12 เขตบริการและครอบคุลมทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการร่วมที่อยากให้ทุกภาคส่วน ทุกคนมีส่วนร่วม ทำเรื่องความปลอดภัยในผู้ป่วย เพราะในชีวิตจริงแล้วเราทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นผู้ป่วย สิ่งที่ชวนจึงเป็นเรื่องที่ทำเพื่อตัวเอง และอยากเห็นระบบสุขภาพของไทยมีมาตรฐานและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และเกิดความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ