ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยผลดีดีซีโพล คนไทยยังมีความกลัว รังเกียจและกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีถึงร้อยละ 48.9 ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจเมื่อปี 57 ถึง 14.2% สะท้อนปัญหาตีตราและเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอดส์ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะมาจากความไม่รู้หรือไม่มีข้อมูล กรมควบคุมโรคเร่งแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

วันนี้ (25 สิงหาคม 2558) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนางสาวจารุณี ศิริพันธุ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์  ร่วมแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ดีดีซีโพล (DDC Poll) และการเสวนา DDC Forum เรื่อง “การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย”

นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย” จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,024 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24 จังหวัด จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญพบว่า 1.คนไทยยังมีความกลัว รังเกียจ กีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ไม่แสดงอาการ) และไม่แน่ใจ สูงถึงร้อยละ 48.9 2.ในผู้ป่วยเอดส์(แสดงอาการป่วยแล้ว) คนไทยยังมีความกลัว รังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 43.3 ซึ่งสูงกว่าปี 2557 ถึงร้อยละ 14.2 3.การบังคับให้ตรวจเอชไอวี/เอดส์ ทั้งก่อนเข้าเรียน ก่อนบวช และก่อนสมัครงาน มีแนวโน้มลดลงจากปี 2557 โดยเฉพาะก่อนสมัครงานที่ลดลงจากร้อยละ73.1 เหลือร้อยละ 58.5     

4.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีแนวโน้มที่จะไม่บอกคนในครอบครัวว่าตนเองติดเชื้อหรือป่วยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 28.9 จากเดิมปี 2557 ที่ร้อยละ 9.1  5.คนไทยร้อยละ 56.5 ไม่รู้ว่าทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการตรวจเอชไอวี/เอดส์ ฟรี ปีละ 2 ครั้ง  และ 6.คนไทยถึงร้อยละ 80.4 ไม่รู้ว่าเมื่อติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แล้ว ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ฟรี

ด้าน นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์  ปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอดส์ยังคงมีอยู่จริงในสังคม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้กำหนดมาตรการและการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2557–2559 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ มาตรการกลุ่มแรก เน้นการเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตรา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ภายใต้แนวคิดองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์” 

และ 2.การสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ โดยนำร่องอย่างน้อย 1 จังหวัดต่อเขต (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต) 

ส่วนมาตรการกลุ่มที่สอง จะเน้นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอดส์  โดยกรมควบคุมโรคมีแผนดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ให้กับหน่วยงานที่เป็นจุดรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นและส่งต่อได้อย่างเหมาะสม และ 2.จัดประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อขับเคลื่อนการจัดวางโครงสร้างการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ซึ่งความจริงแล้ว เอชไอวีติดได้เพียง 3 ทางหลัก คือ 1.จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน 2.จากแม่สู่ลูก และ 3.จากการใช้เข็มและกระบอกฉีดยาร่วมกัน การใช้ชีวิตกิจวัตรปกติ ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี นั่นก็คือ คุณสามารถกินข้าว อาบน้ำ คุย เล่น ฯลฯ กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ หากมีข้อสงสัยสามารถเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ2ครั้งที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และหากพบเชื้อมีสิทธิ์ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟรี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3211 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ส่วนนางสาวจารุณี  ศิริพันธุ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า จากผลโพลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้และไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวียังคงมีอยู่  ซึ่งอาจจะมาจากความไม่รู้หรือไม่มีข้อมูล หรือบางคนอาจจะบอกว่ารู้แต่สิ่งที่รู้กลับไม่ใช่ข้อเท็จจริง ภาพจำหรือความเชื่อเดิมๆ เรื่องเอชไอวีและเอดส์ที่ถูกถ่ายทอดหรือเรียนรู้มาจึงมีอิทธิพลมากกว่า สำหรับทางออกที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ 1.การสร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ เพื่อเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยการสื่อสารผ่านสาธารณะและผ่านหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเนื้อหาที่เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทัศนคติ  2.ปฏิบัติการในการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิ์ โดยเน้นการทำให้ตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าใจเรื่องสิทธิ มีความสามารถในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ และมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือดำเนินการเมื่อถูกตีตราและเลือกปฏิบัติหรือถูกละเมิดสิทธิ์อันเนื่องมาจากเอชไอวีและเอดส์  และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น การมีแนวปฏิบัติเรื่องเอดส์ในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานศึกษา ที่ทำงาน เป็นต้น