ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองที่ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา วิจารณ์ระบบบัตรทองว่าไม่มีใครเขาทำกัน ประเทศไทยไม่พร้อม เป็นประชานิยม ซึ่งผมสรุปตั้งแต่ต้นว่า เป็นคำวิจารณ์ที่ผิดทุกข้อ และได้อธิบายเหตุผลมายืดยาวพอสมควร ขอสรุปโดยสังเขป ดังนี้

ข้อแรก ที่ว่า ไม่มีใครเขาทำกัน ก็ชัดเจนแล้วว่าเรื่องนี้เป็นความฝันของมนุษยชาติมานาน และปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีถึง 75 ประเทศ ที่มีกฎหมายกำหนดพันธกรณีที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน โดยมี 58 ประเทศที่สามารถทำได้ครอบคลุมเกินกว่าร้อยละ 90 แล้ว รวมทั้งประเทศไทย

เหตุผลสำคัญที่ต้องทำ เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นปัญหาของประชาชนทุกคน รัฐต้องดูแลประชาชนในเรื่องนี้ โดยแต่แรก มีเหตุผลสำคัญเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ (Solidarity) และป้องกันมิให้ประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่เอาใจใส่ทุกข์สุขของประชาชน

ข้อสอง เรื่องความพร้อม ประเทศแรกๆ ที่เริ่มทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมคือ เยอรมนี โดยผู้นำคนสำคัญคือ บิสมาร์ก ที่ทำเรื่องนี้ในช่วงการรวมชาติ ในเอเชียประเทศแรกๆ ที่สนใจลงมือทำคือญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปเมจิ และทำสำเร็จครอบคลุมประชาชนถ้วนหน้าเมื่อ พ.ศ. 2504 หลังความพินาศย่อยยับจากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพียง 16 ปี ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก

ในยุโรป ประเทศที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จเป็นประเทศแรก คือ อังกฤษ ซึ่งตัดสินใจทำเรื่องนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และทำสำเร็จในปี พ.ศ. 2491 หลังจากความพินาศย่อยยับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

ประเทศไทยเริ่มทำเรื่องนี้ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้าของปวงชนชาวไทย โดยเริ่มจากการสร้างโรงพยาบาลศิริราช เพื่อแก้ “ทุกข์ยาก” ของราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2429 และเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2431

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มให้ความสำคัญของการสาธารณสุขอย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการตั้งกระทรวงสาธารณสุข และเริ่มการสร้างโรงพยาบาลระดับจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ

ต่อมาในรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ประกาศนโยบายสร้างโรงพยาบาลอำเภอให้ครบทุกอำเภอ และเริ่มนโยบายรักษาฟรีโดยการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นกอบเป็นกำเพื่อสงเคราะห์ประชาชนในเรื่องการรักษาพยาบาล การประกาศนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ที่ประเทศในอินโดจีนทุกประเทศกำลังพ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์ ในปี 2518 และประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานตามทฤษฎีโดมิโนของนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

การสร้างโรงพยาบาลชุมชนครบทุกอำเภอ รวมทั้งการสร้างสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จนครบทุกตำบล เกิดจากวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมและความกล้าหาญของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เริ่มทศวรรษการพัฒนาชนบทเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยการตัดสินใจดำเนินการขณะประเทศประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องลดค่าเงินบาท ต้องกู้เงินจากไอเอมเอฟ ต้องมีวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด พลเอกเปรมมุ่งสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกอำเภอ และสร้างสถานีอนามัยให้ครบทุกตำบลจนสำเร็จ เพราะได้ใช้ความกล้าหาญชะลอการขยายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เป็นเวลาถึง 5 ปี

จะเห็นว่าประเทศไทยไม่รอจนร่ำรวยแล้วจึงลงทุนทางด้านสุขภาพ เพราะมีปรัชญา และวิสัยทัศน์อันถูกต้องว่าการลงทุนทางสุขภาพ เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคง และความเป็นปึกแผ่นของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนทางสุขภาพอย่างฉลาด จึงไม่ต้องรอให้ร่ำรวยเสียก่อน ความร่ำรวยมิใช่ปัจจัยความพร้อม ตรงกันข้ามประเทศที่ร่ำรวย แต่ดำเนินนโยบายไม่ถูกต้อง กลับไม่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนในชาติได้อย่างสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

และเมื่อ พ.ศ. 2533 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เจ้าของสโลแกน “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ก็ได้เริ่มระบบประกันสังคม หลังจากที่ริเริ่มครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2499 แต่ล้มเหลว ระบบหลักประกันสังคม นอกจากทำให้แรงงานในระบบมีหลักประกันด้านสุขภาพแล้ว ยังริเริ่มการปฏิรูประบบการเงินการคลังครั้งสำคัญ คือ การใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) แทนระบบการจ่ายตามการให้บริการ (Fee-For-Service) ซึ่งใช้อยู่แต่เดิมในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงมาก ระบบเหมาจ่ายรายหัวทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และทำให้กองทุนประกันสังคมในส่วนนี้มีเงินเหลือในปัจจุบันกว่าแสนล้าน โดยหากใช้ระบบจ่ายตามการให้บริการ นอกจากผู้ประกันตนจะได้สิทธิประโยชน์อย่างจำกัดแล้ว ค่าใช้จ่ายจะบานปลาย นอกจากจะไม่มีเงินเหลือแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะต้องหักค่าจ้างจ่ายสมทบเพิ่มขึ้นด้วย

ก่อนเริ่มระบบบัตรทองนั้น ประเทศไทยนอกจากสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขทั่วถึงแล้ว ยังสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนครอบคลุมแล้วถึง 79% ระบบบัตรทองคือการเติมเต็มอีกเพียง 21% และ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ก็คำนวณแล้วว่า เพิ่มเงินอีกเพียง 1 หมื่นล้านก็สามารถครอบคลุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ และก็ทำได้จริงๆ แม้เวลานั้นประเทศไทยเพิ่งประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2540 มาได้เพียง 4 ปี

ประการแรก การปฏิรูปด้านการเงินการคลัง ได้ปฏิรูปในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คื

(1) การปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณโดยผูกกับจำนวนประชากรในแต่ละท้องที่ แทนการจัดสรรให้ตามขนาดสถานบริการสาธารณสุขอย่างแต่ก่อน ทำให้สามารถแก้ปัญหา “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม” ลงได้มาก ประชาชนในภาคอีสาน ซึ่งเคยมีโรงพยาบาลน้อยที่สุด มีแพทย์น้อยที่สุด ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ

(2) การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มระบบการหักเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว เป็นการ “ก้าวกระโดด” จากระบบประกันสังคม ซึ่งเริ่มระบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) แต่ไม่มีการหักเงินเดือน ทำให้โรงพยาบาลได้กำไรมาก จึงยังมีประสิทธิภาพต่ำ ถึงปี 2545 ค่าเหมาจ่ายรายหัวของประกันสังคมเพิ่มเป็น 1,100 บาท บวกค่า “ภาระเสี่ยง” อีก 150 บาท รวมเป็น 1,250 บาท แต่ระบบบัตรทอง เริ่มใช้งบประมาณเหมาจ่ายระบบหัวเพียง 1,202.40 บาท เมื่อหักเงินเดือนแล้วเหลือเพียง 613.50 บาท แต่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์มากกว่าประกันสังคมถึง 5 อย่าง คือ 1) การเจ็บป่วยทั้งนอกและในงาน 2) ค่าคลอด 3) ทันตกรรม 4) ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5) ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 41 หลังจากนั้นมีการควบคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวอย่างช้าๆ ระบบบัตรทองจึงมี “ประสิทธิภาพ” สูงสุด ไม่ต้องพูดถึงสวัสดิการข้าราชการที่แพงกว่าถึง 6.7 เท่า

ประการที่สอง การปฏิรูประบบบริการ ได้ปฏิรูปในเรื่องสำคัญ 7 เรื่อง คือ 

(1) เปลี่ยนจากปรัชญาการรักษาคนไข้ “อนาถา” และ “การสงเคราะห์” เป็นสิทธิของประชาชน  สอดคล้องกับที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งบังคับใช้ในขณะนั้น และต่อมารับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 และเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปก็จะต้องรับรองสิทธิดังกล่าวไว้เช่นกัน

(2) เมื่อเริ่มระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและประกันสังคม ยังมุ่งทำเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลเท่านั้น ระบบบัตรทอง ริเริ่มการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้ครอบคลุมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวที่เสนอขอใช้อย่างประหยัดที่สุด และสามารถทำได้ดี จนปัจจุบันประกันสังคมก็แก้ไขกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2558 ให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยแล้ว

(3) มีการเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนโดยลำดับ จากการรักษาพยาบาลพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมมากกว่าประกันสังคมเป็นอันมาก เพิ่มการให้สิทธิการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเอดส์ และสร้างระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีสูง ราคาแพงอย่างต่อเนื่อง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกง่ายและหยุดยาก คือ ฮีโมพิเลีย ยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจ ครอบคลุมแม้แต่การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และการผ่าตัดเปลี่ยนตับในเด็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้วยังช่วยรักษาศักยภาพของประเทศในเรื่องดังกล่าวไว้ รวมทั้งช่วยพัฒนาระบบการบริจาคอวัยวะด้วย การล้างไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ก็มีการสร้างหลักประกัน และพัฒนาระบบการรักษาโดยการล้างไตทางช่องท้องได้เองที่บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

การขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ มีการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบถึงผลประโยชน์ ความคุ้มค่า และภาระด้านการเงินการคลัง โดยมีขั้นตอนการพิจารณาหลายขั้นตอน ไม่มุ่งเพื่อ “ประชานิยม” แต่อย่างใด

(4) การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ คือ สายด่วน 1330 ซึ่งมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงยิ่ง สามารถให้บริการได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สวัสดิการข้าราชการไม่เคยคิดทำ และประกันสังคมซึ่งมีเรื่องราวที่ผู้ประกันตนต้องปรึกษาหารือมากมาย นอกเหนือจากเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ให้บริการเฉพาะวันราชการ โดยมีการให้บริการนอกเวลาราชการด้วย แต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้ง 24 ชั่วโมง

(5) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นจนสำเร็จ และขยายการครอบคลุมไปถึงสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และประชากรกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด โดยเริ่มจากเงินที่มีอยู่น้อยนิด

(6) การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งประชาชนและผู้ให้บริการอย่างจริงจัง เป็นประจำทุกปี และนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาพัฒนาอย่างเป็นระบบ 

(7) การช่วยเหลือ “เบื้องต้น” แก่ผู้เสียหายจากการรับบริการตามมาตรา 41 สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาพิจารณาราว 1-2 เดือน เท่านั้น แทนการที่ประชาชนต้องไปฟ้องร้อง ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานแรมปี บางคดีกว่า 10 ปี มาตรการดังกล่าวช่วยลดความบาดหมางระหว่างประชาชน และผู้ให้บริการลงได้มาก

ประการที่สาม การปฏิรูประบบบริหาร ได้ปฏิรูปในเรื่องสำคัญ 5 เรื่อง คือ

(1) การสร้าง “นวัตกรรมทางการบริหาร” คือการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการดูแลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ ให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) 2) ให้บริการอย่างมีคุณภาพ (Quality) และ 3) สร้างความเท่าเทียมให้แก่ประชาชน (Equity)

เมื่อเริ่มโครงการ “รักษาฟรี” ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้จัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาระบบบริการ และงานอื่นๆ มากมาย จึงไม่สามารถให้ความสนใจกับการดูแลประชาชนได้ดีเท่าที่ควร งบประมาณที่จัดสรรตามขนาดของบริการ ยิ่งเพิ่มความไม่เท่าเทียม ไม่สามารถบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถใช้กลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มคุณภาพของการบริการ

ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษเศษ สปสช. สามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ คือ ประสิทธิภาพ คุณภาพ และเท่าเทียม ได้ดี โดยใช้งบประมาณด้านบริหารต่ำมาก โดยปัจจุบันใช้เงินไม่ถึงร้อยละ 1 ของกองทุน

(2) การเปลี่ยนจากการบริหารในระบบ “ราชการ” ไปเป็น “องค์กรมหาชน” มีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการด้านคุณภาพ ทำให้สามารถสร้างธรรมาภิบาลของระบบได้ดีกว่าระบบราชการมาก ในทุกองค์ประกอบของระบบธรรมาภิบาล คือ

(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน

(2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

(3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ

(4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น

(5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์

(6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

(7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

น่ายินดีที่แม้ในหลายช่วงเวลาจะมีความพยายามของระบบการเมืองสามานย์ที่เข้ามาทำลายระบบ ทั้งเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง และเพื่อ “หาเสียง” ในลักษณะ “ประชานิยมไร้เดียงสา” แต่ก็มีการต่อสู้คัดค้าน โดยเฉพาะจากกรรมการ จากภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ยังรักษาระบบที่ดีไว้ได้โดยพื้นฐาน

(3) ระหว่างร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีความพยายามจะรวมระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และสวัสดิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาไว้ในระบบเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ แต่ได้เปิดช่องทางไว้ให้มีการรวมระบบในอนาคต เมื่อพร้อม น่ายินดีในส่วนของ อปท. ได้เข้ามารวมอยู่ในระบบบัตรทองแล้วใน “ขั้นตอนแรก” คือ เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบบริหารของ สปสช. แต่สิทธิประโยชน์ยังคงไว้ตามเดิม แม้กระนั้น สปสช. ก็สามารถบริหารได้อย่างดียิ่ง สามารถลดค่าใช้จ่ายจากปีละ 6 พันล้าน ลงเหลือเพียง 4 พันล้าน และสามารถลดปัญหา อปท.ขนาดเล็ก เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย จากการไม่สามารถแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงได้โดยพื้นฐาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลงได้ด้วย

(4) เป็นครั้งแรก ที่มีการให้ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและการให้บริการ โดยตราไว้ในกฎหมาย และรัฐบาลพรรคประชาธิปปัตย์สมัยที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จนทำให้การจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทั่วประเทศกว่า 7,800 แห่ง โดยเจียดงบประมาณจากกองทุน ให้ อปท. ร่วมสมทบ โดยสมัครใจในอัตราที่กำหนด และให้ อปท.ร่วมกับภาคประชาชนทำงานโดยเฉพาะด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง 

(5) ผลของการบริหารของ สปสช. ที่สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ก่ออานิสงส์แก่อีก 2 กองทุนที่เหลือ คือ 1) ประกันสังคม ต้องมีการปรับปรุงระบบบริการ เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน มิให้ “น้อยหน้า” กว่า บัตรทอง รวมทั้งมีการแก้ไขกฏหมายให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 41 ให้แก่ผู้ประกันตนด้วย 2) สวัสดิการข้าราชการ มีการนำระบบการควบคุมการเบิกจ่ายตามกลุ่มการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group : DRG) ไปใช้ ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในวงเงินไม่เกิน 6 หมื่นล้านมาได้ในช่วงหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ดี หวังว่าประกันสังคมจะไม่ “อุ้มกระเตง” งานนี้ โดยการบริหารที่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพต่ำกว่าต่อไป และระบบสวัสดิการข้าราชการก็จะมีการปฏิรูปแทนการทำงานอย่างมะงุมมะงาหรา ด้วยการตั้งรับและรอให้มีการมาล็อบบี้เป็นระยะๆ ต่อไปเรื่อยๆ

โดยสรุป ระบบบัตรทองเป็นความฝันของรัฐบาลถึง 75 ประเทศทั่วโลก และ 58 ประเทศสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่าร้อยละ 90 แล้ว ระบบบัตรทองคือสวัสดิการสังคม มิใช่ประชานิยม และประเทศไทยได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ประเทศไทยจึงยิ่งกว่าพร้อม และความสำเร็จของประเทศไทย ได้รับการชื่นชมจากผู้นำระดับโลกจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการรางวัลโนเบลอย่างอมรรตยะ เสน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานธนาคารโลก

ติดตามต่อตอนที่ 17