ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ระบุ การลงทุนระบบสาธารณสุขประเทศ ควรยึดหลักการ “6 Building Blocks of Health System” ขององค์การอนามัยโลก เสนอภาครัฐ ดึงหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมหาทางออก พร้อมกำหนดทิศทางการลงทุน ลดความขัดแย้ง พร้อมเสนอเพิ่มเก็บภาษี รพ.เอกชน ชี้ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบพัฒนาระบบสาธารณสุขประเทศด้วย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสะท้อนมุมมองต่อทิศทางการลงทุนด้านระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากร ว่า ปัญหาความพอเพียงของทรัพยากรในระบบสาธารณสุขเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน หากให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับภาระดูแลประชาชนทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก เพราะระบบที่เป็นอยู่ซึ่งมีทรัพยากรที่จำกัด ไม่เพียงพอกับการบริการ รวมถึงบุคลากรในระบบ ซึ่งหากจะดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ควรทำอย่างไร

ทั้งนี้ประเทศไทยมีระบบรักษาพยาบาลหลัก 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีที่มาของการตั้งกองทุนและงบประมาณที่แตกต่างกัน และแต่ละกองทุนต่างมีหน้าที่ต้องดูแลผู้มีสิทธิในระบบของตนเองให้เข้าถึงการรักษา คำถามคือแล้วตรงนี้จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการกระจายและดูแลประชากรได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ควรลงทุนไปในด้านใดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งตามหลักการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การลงทุนด้านสุขภาพควรที่จะมีการลงทุนพร้อมกันทั้งระบบ ตามหลักการ 6 Building Blocks of Health System คือ

1.กำลังคนด้านสุขภาพ โดยให้มีการผลิตจำนวนที่มากเพียงพอกับความต้องการในระบบ ขณะเดียวกันต้องมีคุณภาพและมาตรฐานด้วย ต้องไม่ใช่การเร่งผลิตแล้วไม่มีคุณภาพ พร้อมกันนี้ต้องมีการวางแผนกระจายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ขาดแคลน แต่การจะส่งกำลังคนสุขภาพไปอยู่พื้นที่ขาดแคลนนั้นจะต้องทำให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ทั้งในด้านความปลอดภัยและการสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อให้สามารถทำงานในพื้นที่ได้ ไม่ใช่การปล่อยให้อยู่ด้วยความลำบาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะไม่มีใครอยู่ทำงานในพื้นที่ได้   

2.ระบบข้อมูล ปัจจุบันความต้องการคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจะทำให้ระบบมีคุณภาพได้นั้นจะต้องมีการพัฒนาในส่วนของระบบฐานข้อมูลที่ต้องครอบคลุม เพื่อลดความผิดพลาดของระบบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลหนึ่ง จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ต่อเนื่อง เพราะหากขาดช่วงไปอาจส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยจนถึงพิการและเสียชีวิตได้ จึงต้องมีระบบที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพประชาชน จึงต้องมีการลงทุนในส่วนนี้

3.ยาและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ส่วนนี้มีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยอย่างมากและจำเป็นต้องมีการลงทุน แต่การที่กองทุนรักษาพยาบาลจะสนับสนุนด้านยาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องตกลงเพื่อหาจุดร่วมกัน และต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ร่วมกันรับทราบข้อจำกัดของงบประมาณที่มีอยู่ว่าสามารถดำเนินการได้ในระดับใด และจำเป็นต้องมีงบสนับสนุนส่วนอื่นเข้ามาช่วยเสริม แต่จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทราบกันดี แต่ไม่มีใครกล้าพอที่จะดำเนินการ

4.การออกแบบระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ อย่างที่กล่าวแล้วว่าประเทศไทยมี 3 กองทุนรักษาพยาบาลหลัก ตรงนี้ควรจะให้แยกกันบริหารหรือให้คงในรูปแบบนี้ต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีระบบที่เข้ามาสนับสนุนให้หน่วยบริการทำงานง่ายขึ้น เพื่อที่บุคลากรในวิชาชีพสามารถใช้เวลาในการดูแลและรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการมีหลายกองทุนทำให้หน่วยบริการต้องมีการทำเรื่องเบิกจ่ายที่แตกต่างและซับซ้อน ทำอย่างไรจึงจะต้องลดภาระตรงนี้ได้ ควรทำให้เป็นระบบเดียวกัน  นอกจากนี้ควรลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและไม่เกิดประโยชน์ออกไปด้วย

5.ภาวะผู้นำและอภิบาลระบบ ในประเด็นนี้การจะดึงงบประมาณแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลมาบริหารมารวมและให้ใครมาบริหารแทน เป็นเรื่องที่ยาก อย่างการตั้งซุปเปอร์บอร์ดเพื่อดูแลทั้ง 3 กองทุน เป็นต้น ดังนั้นควรที่จะยอมรับและหาช่องทางอื่นเพื่ออภิบาลระบบแทน อย่างเช่น การร่วมบริหารระบบบริการ หรือการจัดทำระบบตรวจสอบร่วมกัน เป็นต้น

6.งบประมาณ โดยในกรณีที่งบกองทุนใดกองทุนหนึ่งไม่เพียงพอ เป็นได้หรือที่ให้มีการจัดทำกลไกการบริหารแต่ละกองทุนที่เอื้อต่อกัน แต่ไม่ใช่การยุบรวมกองทุน

นพ.ธีระ กล่าวว่า การลงทุนจะต้องลงทุนพัฒนาทั้ง 6 Building Blocks of Health System ไปพร้อมกัน แต่บ้านเรามีปัญหางบประมาณและทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการจะลงทุนในสัดส่วนไหนมากกว่ากันนั้นจะต้องพูดคุยกันก่อน เป็นการถามความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะหากลงทุนในบล๊อกใดบล๊อกหนึ่งมากเกินไปอาจส่งผลกระทบได้ ภาครัฐโดยรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงสาธารณสุข และ รมว.สาธารณสุข ต้องเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ ใน 6 บล๊อกนี้มาช่วยกันดูและหารือถึงทิศทางการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการประสานงานร่วมกันและลดความขัดแย้งลงได้ ดีกว่าปล่อยให้ตะลุมบอลเพื่อแย่งงบประมาณก้อนเดียวกัน

นพ.ธีระ กล่าวว่า นอกจากการลงทุนในส่วนภาครัฐแล้ว ต้องดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบรักษาพยาบาลของประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นรักษาเฉพาะผู้ที่มีฐานะ โดยไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบประชาชน เน้นเป็นระบบรักษาพยาบาลที่มุ่งทำกำไรอย่างเดียว ทั้งที่การลงทุนระบบรักษาพยาบาลของภาคเอกชน มีส่วนของภาครัฐที่ร่วมลงทุนด้วย โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะการเก็บภาษีกำไรจากโรงพยาบาลเอกชนอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ดังนั้นจึงควรมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย