ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงแนวทางการบริหารงานด้านสาธารณสุขท่ามกลางความขัดแย้งของบุคลากรภายในองค์กรทั้งด้านทัศนคติในการทำงาน ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ค่าตอบแทน หรือแม้กระทั่งการทำงานประสานกับหน่วยงานสุขภาพตระกูล ส. อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กำลังถูกรัฐบาลตรวจสอบอย่างเข้มข้น

นพ.โสภณ เมฆธน

2 ปี นับจากนี้มีแผนการทำงานอย่างไร

หลักๆ จะแปลงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.ไปสู่การปฏิบัติ คือ 1.ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 2.ดูแลสุขภาพก่อนป่วย เน้นระบบบริการรักษา 3.การบริหารจัดการกำลังคน การเงิน และพัสดุ ในด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้นเน้น 5 กลุ่มวัย คือ 1.ตั้งแต่ในครรภ์ 2.วัยเด็ก 3.วัยรุ่น 4.วัยทำงาน และ 5.วัยสูงอายุ โดยเฉพาะเด็ก คนเรามักพูดว่า "เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ" ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร ให้เด็กเกิดมามีคุณภาพ แข็งแรง เป็นไปตามค่านิยม 12 ประการ ซึ่งผมว่าเด็กสร้างได้ อย่างเด็กไทยแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ กตัญญู ดูแลบ้านเมือง ถ้าแข็งแรงไม่พิการแต่กำเนิด โดยการฝากท้องที่ดีมีคุณภาพ

ในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ในปี 2573 ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น หากมีคนเดินมา 4 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน จะดูแลอย่างไร เพราะนอกจากคุณภาพชีวิตแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลก็สูงขึ้น ดังนั้น เราต้องดูแลในเรื่องโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน และระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ปีนี้ สปสช.มีงบประมาณ 600 ล้านบาท เราต้องมีระบบดูแลคนไข้ โดยอาศัยทีมหมอครอบครัวเข้าไปดูแล ขณะที่วัยรุ่นต้องแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น วัยทำงาน ต้องดูแลกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (เอ็นซีดี) หากควบคุมไม่ดีจะเกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะ 4 ต.คือ ตาเสีย ไตวาย เส้นเลือดสมองหรือหัวใจตีบ และ ต.สุดท้าย พูดหยาบๆ คือตีน เพราะต้องถูกตัดขา จากเบาหวาน ต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

ส่วนระบบบริการการดูแลประชาชน รัฐมนตรีมอบไว้ว่าจะทำอย่างไรให้ลดความแออัด ต้องไม่พัฒนาโรงพยาบาลให้ใหญ่โต แต่เน้นประชาชนให้เข้ามาใช้บริการแล้วพอใจ ไม่แออัด และลดการเจ็บการตาย ซึ่งก็ต้องดูพื้นที่ต่างๆ อาทิ อยู่ในทุ่งนารู้สึกเจ็บหน้าอก จะทำอย่างไรให้ได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว ก็ต้องพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน และต้องทำเป็นเครือข่าย กลุ่มโรงพยาบาลช่วยเหลือกัน คือ การแชร์ทรัพยากร มีแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่มาช่วยฝึกอบรมโรงพยาบาลเล็ก เป็นต้น

และ 3 การบริหารจัดการกำลังคน ก็ต้องวางแผนว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีกำลังคนเท่าไร มีแพทย์และบุคลากรสาขาไหน และต้องมีระบบการประเมินบุคคล เหมือนมีเคพีไอ ส่วนเรื่องเงินก็ต้องมีแผน ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลจะขาดทุน อนาคตจะต้องมีค่ากลาง เช่น โรงพยาบาลระดับนี้ควรมีค่าแรง ค่ายาเท่าไร ต้องมีค่ากลางของโรงพยาบาลในแต่ละระดับ และมีระบบตรวจสอบบัญชี ส่วนเรื่องพัสดุต่างๆ การซื้อของต้องโปร่งใส ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล

แก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรอย่างไร

ต้องฟัง ผมรับตำแหน่งแรกๆ มีทุกชมรมมาขอเข้าพบ ผมต้องอธิบายก่อนว่า คนเรามีความต้องการหมด แต่อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดก่อนว่ามีภาพฝันของกระทรวงอย่างไร จริงๆ ชอบคำของรัฐมนตรีที่บอกว่า "ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข" ทำง่ายๆ ก็อย่าให้เจ้าหน้าที่มีความทุกข์ และอะไรที่ทำให้ทุกข์ ก็ความไม่เป็นธรรม ซึ่งเราก็ต้องแก้ไข ผมไปฟังหลวงตาที่ จ.สกลนคร ท่านบอกว่าการจะปรองดอง เราต้องมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่าง สธ.ก็เพื่อองค์กร เพื่อประชาชน ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบนี้ไม่ปรองดอง และหลวงตายังบอกว่าจะให้สงบได้ ก็ยกกระทรวงยุติธรรมมาอยู่ใน สธ. ผมจะไม่พูดเรื่องเหลื่อมล้ำ พูดแค่ทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่สามารถทำให้ทุกคนได้เท่าเทียมกันหมด เพราะหากให้ทุกคนขึ้นมาเท่ากันหมด คงเป็นเหมือนการหาเสียงมากกว่า

อะไรที่จะสร้างความเป็นธรรมมากที่สุด

เราต้องให้โอกาสทุกวิชาชีพได้เท่าเทียมกัน ทั้งโอกาสได้ก้าวหน้า โอกาสได้รับสวัสดิการ โอกาสได้รับค่าตอบแทน พวกนี้เป็นปัญหามาอยู่แล้ว อย่างกำลังคน คนเยอะ เงินน้อย จะเอาเงินไหนมาจ่าย ต้องบอกว่าลูกโป่งมีแค่นี้ จะทำอย่างไรให้ใหญ่ขึ้น ดังนั้น เมื่อเรียกร้องไปก็ไม่มี เงินของโรงพยาบาลก็มีแค่นี้ ดังนั้น ต้องไปจำกัด อย่าเที่ยวไปจ้างคนเยอะ

แต่การบรรจุบุคลากรสาธารณสุขยังมีปัญหา

การบรรจุเป็นข้าราชการผ่านการอนุมัติแล้ว เป็นไปตามขั้นตอน ส่วนที่ยังมีปัญหาจะเป็นการจ้างลูกจ้างเพิ่มมากกว่า ซึ่งแผนระยะยาวต้องมีแผนพัฒนากำลังคน ส่วนแผนระยะสั้นจะเข้าไปดูว่าแต่ละโรงพยาบาลมีลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างแบบไหนบ้าง และสิ่งที่พวกเขายังไม่ได้รับมีอะไร เพราะการจะเอาลูกจ้างชั่วคราวเข้าเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทั้งหมด จำเป็นต้องมีระบบในการตรวจประเมินระดับหนึ่งด้วย

ปัญหาค่าตอบแทน โดยเฉพาะการจ่ายเงินตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี)

หากจะทำพีฟอร์พีต้องมีระบบที่ดี แต่ระบบการตรวจประเมินว่าใครทำงานมาก ทำงานน้อย ยังไม่เป็นระบบที่นำมาวัดได้ 100% ทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะหากระบบไม่ดี และมาเติมเงินก็ยิ่งเป็นปัญหา ซึ่งในเรื่องระบบค่าตอบแทน ขณะนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาเรื่องนี้ เราต้องอาศัยงานวิชาการ จากนั้นมาพูดคุย และมาดูความเป็นจริงว่าทำได้หรือไม่ได้

จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในยุคนี้หรือไม่

ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ก็อยากทำให้เกิดความเป็นธรรม และพยายามจะแก้ปัญหาให้

เป็นปลัดก็เจอปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย

ผมไม่ได้มองว่าต้องเลือกพวกของใคร แต่ผมจะมองแค่งานที่ต้องทำมีงานอะไร และมองว่าใครเหมาะกับงานแบบไหน อย่างรองปลัด สธ.มี 4 ตำแหน่ง ผมแบ่งงานเป็น 4 ส่วน ใครเหมาะกับงานกลุ่มไหน ใครเหมาะสมกว่า ก็เลือกตามงาน

มีคนบอกว่าไม่ได้เลือกรองปลัดเอง

รัฐมนตรีให้เกียรติมาก จากคำสัมภาษณ์ท่านบอกว่ามอบให้ปลัดจัดทีม และท่านก็บอกว่าทุกอย่างท่านจะร่วมรับผิดชอบด้วย โดยผมเสนอและปรึกษาหารือกัน จนได้ข้อสรุปมา ซึ่งผมก็บอกว่าหากมีปัญหา ผมพร้อมรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรีท่านบอกว่าท่านก็มีส่วนในการให้คำปรึกษาในการเลือก จึงจะร่วมรับผิดชอบด้วย ผมเสนอไป 6 คน คิดว่ามีใครเหมาะสม โดยได้พูดคุยและแบ่งงานกัน เช่น งานปฏิรูประบบบริการ งานต่างประเทศ งานพัฒนากฎหมาย ใครจะทำ ใครเหมาะตรงไหน หากงานนี้มีเหมาะสม 2 คน ก็ต้องดูและตัดสินใจ เพราะตำแหน่งมีแค่ 4 ตำแหน่ง แต่มี 6 คน จะให้ได้ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีคนสมหวัง ผิดหวัง บอกเลย เรื่องนี้ไม่สนุก

จากนี้จะมีการโยกย้ายอีกหรือไม่

ต้องมี ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด โดยจะมีการปรับเปลี่ยน และให้ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ มีการคุยเรื่องแผนงาน แผนเงิน ซึ่งในแผนกำลังคน ก็ต้องมีคนไปทำงาน ดังนั้น ต้องมีการย้าย การปรับเปลี่ยน การแต่งตั้งคนใหม่ไปแทน

แต่งตั้งโยกย้ายล็อตใหม่จะเป็นอย่างไร

ตอนนี้มีตำแหน่งที่ว่างอยู่ อย่างจังหวัดใหญ่ๆ ต้องสอบถามอย่างรอบด้าน ทั้ง 1.ต้องดูความประสงค์ของเจ้าตัว 2.ผู้บังคับบัญชา คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รองปลัด และ 3.ดูจากเพื่อนรอบข้างเคียง คือ โรงพยาบาลข้างเคียง ประชาคมสาธารณสุข ผมประเมิน 360 องศา จากนั้นก็จะเข้าสู่คณะกรรมการประเมินความเหมาะสมอีก โดยจะมีปลัด รองปลัดมาปรึกษาว่าใครควรอยู่จังหวัดไหน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การคัดเลือกคนใหม่ขึ้นมาจะต้องอยู่ในตะกร้าของการสอบคัดเลือก ซึ่งสอบผ่านไปแล้วก็ต้องมาคัดเลือกอีก ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล และ นพ.สสจ.จะพิจารณาทีเดียว โดยเป็น นพ.สสจ.จำนวน 8 ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล 19 ตำแหน่ง วันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ต้องเดินทางไปรับงานทันที

จากนั้นยังมีโยกย้ายอีกหรือไม่

ขาดผู้ตรวจราชการ สธ.อีก 3 คน ซึ่งจะคัดเลือกมาจากรองอธิบดี โดยต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือกเช่นกัน และเข้าสู่กระบวนการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะดำเนินการตรงนี้ได้ ก็ต้องรอให้กลุ่มแรกได้รับการโปรดเกล้าฯ และลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน เพื่อให้ผู้ตรวจขยับขึ้นเป็นรองปลัด สธ. ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเพียงการเสนอชื่อ

ต้องทำงานกับหน่วยงานตระกูล ส.ด้วย

ที่ผ่านมา ก็ทำงานประสานงานด้วยกันมาตลอด แต่แบ่งบทบาทหน้าที่กัน อย่างกรมอนามัย กรมควบคุมโรคก็แบ่งบทบาทกัน ส่วนหนึ่งดูผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่งดูกลุ่มเสี่ยง ส่วนเรื่องการเงิน ก็จะเป็น สปสช.และ สสส.ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ผมคิดว่าหากเรารู้บทบาทขอบเขตของหน้าที่ก็ทำงานได้

สปสช.และ สสส.ถูกตรวจสอบจะกระทบงานหรือไม่

ก็ต้องดูวิกฤตแบบไหน นอนไอซียูหรือไม่ หากปวดเมื่อยตัว แต่ยังทำงานได้ ก็ต้องทำ แต่หากอยู่ไอซียู แต่อยากทำงานด้วยก็ต้องเดินไปหา ทุกองค์กรแม้ไม่มีผู้นำองค์กร งานก็ต้องเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองแย่

ขณะนี้รัฐบาลตรวจสอบองค์กรตระกูล ส.

ผมไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบอะไรบ้าง แต่ขณะนี้บ้านเมืองเราเป็นสังคมของการตรวจสอบ

มองคำว่า "สุขภาพ-สุขภาวะ" อย่างไร

ทุกองค์กรต้องทำงานไปตามตัวบทกฎหมาย ถ้าถามว่า "สุขภาพ" หมายถึงอะไร องค์การอนามัยโลกบอกว่า สุขภาพหมายรวมถึงความสมบูรณ์ทางกาย ทางใจ และทางสังคม ซึ่งรวมถึงหากดูแลตัวเองดี ก็จะไม่ก่อโรคภัยไข้เจ็บหรือเกิดน้อย ขณะเดียวกันหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษก็จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ดังนั้น คนเรามีสุขภาพแข็งแรง จะมองเพียงสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย

สุขภาพในที่นี้ครอบคลุมสิ่งที่ สสส.ทำหรือไม่

คงพูดไม่ได้แบบนั้น คนสุขภาพแข็งแรงมีปัจจัยอื่นไม่ใช่แค่สาธารณสุข แต่การทำงานก็ต้องดูบทบาทของแต่ละที่ด้วย ต้องไปดูกฎหมาย อย่างผมเป็นปลัดกระทรวง จะทำอะไรก็ต้องอยู่ในอำนาจของกฎหมายที่กำหนดไว้ ทำนอกนั้นไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 ตุลาคม 2558