กระทรวงสาธารณสุข จับมือ มหาดไทย ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการการทำงานพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตร่วมกันใน 4 ประเด็น คือ การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี การพัฒนาผู้สูงอายุ การรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ประชุมการบูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ตามนโยบายของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ที่ให้หน่วยงานบูรณาการทำหน้าที่ร่วมกัน โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้หารือการบูรณาการการทำงานใน 4 ประเด็น คือ การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี การพัฒนาผู้สูงอายุ การรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และได้มีการบูรณาการเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด มาตรการและกลไกการจัดการ
ประเด็นที่ 1 กลุ่มเด็กปฐมวัยอายุ 0-5 ปี ได้ร่วมกันกำหนดเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด เพื่อให้เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 มีอีคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 70 มีทักษะ แบ่งปัน ทำงานเพื่อส่วนรวม ดูแลช่วยเหลือตนเองและแข็งแรง โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยแข็งแรง เก่ง ดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ ซึ่งปัจจุบัน ไอคิว อีคิวต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล มีพัฒนาการล่าช้าร้อยละ 21 น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 10 รูปร่างสมส่วนเพียงร้อยละ 64.7
ประเด็นที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป้าประสงค์/ตัวชี้วัด เพื่อให้ครอบครัวและชุมชนเป็นสถาบันหลักที่เข้มแข็ง ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีระบบสวัสดิการและบริการรองรับได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน เข้าถึงได้ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน อย่างน้อยตำบลละ 1 คน เป้าหมายให้ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม
ประเด็นที่ 3 การพัฒนาผู้สูงอายุ การรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ มีเป้าหมายให้ผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดการเจ็บป่วย โดยให้ 4 กระทรวงตั้งคณะกรรมการดูแลระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมอบหมายผู้ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วย ประสานการส่งต่อ ดูแลค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งประสานค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าพาหนะ ที่พัก อาหาร ค่ายังชีพ จากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมให้อาสาสมัครสาธารณสุขติดตามช่วยเหลือ ดูแลให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาตามนัด
ประเด็นที่ 4 การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ได้ขอความร่วมมือกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการ 3 เก็บ บวก 5 ส. ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทำที่บ้าน อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดยุงลายพาหะนำโรค ทั้งในที่ทำงาน บ้าน โรงเรียน วัด ชุมชน
- 443 views